การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กรณีศึกษา

Main Article Content

ภัศรา ราษีมิน

บทคัดย่อ

ที่มาและความสำคัญ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปี และมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ภาวะเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมที่พบได้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของทั้งมารดาและทารกในครรภ์


วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษากระบวนการพยาบาลและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ผ่านกรณีศึกษา 2) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสำหรับพยาบาลในแผนกฝากครรภ์กรณีดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 3) เพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงที่มารับบริการในแผนกฝากครรภ์


วิธีการศึกษา เลือกกรณีศึกษาจำนวน 1 ราย แบบเฉพาะเจาะจงในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เริ่มด้วยการเก็บข้อมูลจากเวชระเบียน สัมภาษณ์ผู้ป่วยร่วมกับการสังเกต ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาวิเคราะห์วางแผนการพยาบาล ให้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ


ผลการศึกษา จากกรณีศึกษาหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้รับการดูแลฝากครรภ์คุณภาพตามมาตรฐานงานฝากครรภ์ ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงเฉพาะโรค สามารถดำเนินการตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ป้องกันการคลอดก่อนกำหนดและภาวะแทรกซ้อนอันตราย ต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกได้ ระยะเวลาที่ดูแล 7 เดือน 1 สัปดาห์ 3 วัน


สรุป กระบวนการพยาบาลและการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขณะตั้งครรภ์ จนสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ถึง 37 สัปดาห์หรือใกล้ครบกำหนดคลอดมากที่สุด พยาบาลจะต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับหญิงตั้งครรภ์และครอบครัว มีความตั้งใจ แสดงความจริงใจ มีความเป็นมิตร ใช้แรงจูงใจในการให้ข้อมูลที่เป็นทางเลือกจนนำไปสู่การก้าวข้ามความลังเล และตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง โดยสร้างแรงจูงใจหญิงตั้งครรภ์ ให้มีรู้สึกมั่นใจในตนเองว่าสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่าง ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งต้องใช้เทคนิคการสนทนาเพื่อสร้างแรงจูงใจ (Motivation Interviewing : MI) เพื่อสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพตนเอง ลดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์และทารกได้ และพยาบาลจะต้องมีความรู้และทักษะในการให้การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง การดูแลฝากครรภ์คุณภาพ ตามมาตรฐานงานฝากครรภ์ การพยาบาลแบบองค์รวม ทักษะในการประเมินให้ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การประเมินประวัติสูติกรรมในอดีต ประวัติการตั้งครรภ์ปัจจุบัน ประวัติการเจ็บป่วย ระดับดัชนีมวลกาย การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก ค่าระดับน้ำตาลในเลือด และค่าความดันโลหิต

Article Details

บท
รายงานผู้ป่วย

References

Netimetee,S. (2024). ผลของโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน. ThaiJournalofNursing, 73(4), 31-40.

กฤษณา วรรณเพียสุพรรณ. (2024). การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์: กรณีศึกษา. วารสารวิชาการทางกา พยาบา แล วิทยาศาสตร์สุขภาพ, 3(3), 78-90.

ณิรชา ชินรัตน์. (2023). การพยาบาลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ชนิดรุนแรงร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อน : กรณีศึกษา 2 ราย. วารสารวิชาการทางการพยาบาลและวิทยาศาสตร์สุขภาพ, 3(3), 129-143.

พรศิริ เสนธิริ, สุดใจ ศรีสงค์, รัศมีแข พรหมประกาย, เพียงเพ็ญ สร้อยสุวรรณ, & ขวัญฤดี โกพลรัตน์. (2017). การพัฒนารูปแบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์. วารสาร การแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์, 32(2), 117-128.

พาฝัน หงษ์เตาปูน. (2023). การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์อายุมากร่วมกับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์: กรณีศึกษา เปรียบเทียบ 2 ราย. วารสารอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชน, 8(3), 340-347.

ลัดดาวัลย์ ปลอดฤทธิ์, รำไพ ตั้งไตรทิพย์, & คนางค์ ภูมิภมร. (2023). การพัฒนารูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์. วารสารวิจัยและนวัตกรรมทางสุขภาพ, 6(1), e262134-e262134.

ลำเพย พิมพ์ทอง. (2024). การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า35ปีร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานขณะตั้งครรภ์ : กรณีศึกษา. วารสารสุขภาพและสิ่งแวดล้อมศึกษา, 9(1), 223-230.

สารณี ไชยวิเศษ. (2024). การพยาบาลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานก่อนและขณะตั้งครรภ์: กรณีศึกษา 2 ราย. วารสารสุขภาพและสิ่งแวดล้อมศึกษา, 9(1), 135-142.

สุภาวดี เนติเมธี, & สุเนตร บุบผามาลา. (2022). การดูแลสตรีที่เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์. วารสารสุขภาพและการศึกษาพยาบาล, 28(1), e256658-e256658.

อุดมพร เหมือยไธสง. (2023). กรณีศึกษาการพยาบาลหญิง ตั้ง ครรภ์ ที่ มี ภาวะ ความ ดัน โลหิต สูง ใน ระยะ คลอด (ศึกษา 2 ราย). วารสาร อนามัย สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ ชุมชน, 8(3), 143-150.