การสอบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เดือนกันยายน 2559
คำสำคัญ:
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา, การระบาด, เขตสาทร, กรุงเทพมหานครบทคัดย่อ
บทนํา: เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 งานควบคุมโรคศูนย์บริการสาธารณสุข 14 แก้วสีบุญเรือง สำนักอนามัยได้รับแจ้งข้อมูลจากกลุ่มงานระบาด กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ว่าพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 1 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ในแขวงยานนาวา เขตสาทร ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วศูนย์บริการสาธารณสุข 14 แก้ว สีบุญเรืองร่วมกับกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ฝ่ายสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตสาทร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการสอบสวน และควบคุมโรคในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 2–30 กันยายน 2559 เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ยืนยันการระบาด หาขอบเขตการระบาดและการกระจายของโรค และเพื่อควบคุมป้องกันการระบาดในพื้นที่
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา โดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย ทบทวนเวชระเบียนของผู้ป่วย ค้นหาผู้ป่วยและหญิงตั้งครรภ์เพิ่มเติม โดยใช้นิยามของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคที่กำหนดขึ้น การศึกษาสภาพแวดล้อมในบ้านผู้ป่วย และรัศมี 100 เมตรโดยรอบ รวมถึงโรงเรียน วัด สถานพยาบาล ใกล้เคียง และสํารวจลูกน้ำยุงลาย เก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะผู้สัมผัสในครอบครัวและในหญิงตั้งครรภ์ ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบผู้ป่วยตามนิยามรวม 25 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยัน 18 ราย ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ 7 ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 6.1 การค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มแรกเริ่มทยอยป่วยก่อนผู้ป่วยที่ถูกรายงานรายแรก จำนวน 7 ราย หลังจากนั้นพบผู้ป่วยอีกจำนวน 10 ราย โดยรายแรกเริ่มป่วยวันที่ 28 สิงหาคม 2559 และรายสุดท้ายวันที่ 11 กันยายน 2559 ผู้ป่วยส่วนใหญ่สัมผัสกันในครอบครัวและในสถานที่ทำงาน พบหญิงตั้งครรภ์ 21 ราย ไม่พบการติดเชื้อ อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยพบมากที่สุด ได้แก่ ไข้และผื่นร้อยละ 76.47 รองลงมา คือ ปวดข้อร้อยละ 35.29 ตาแดงร้อยละ 29.41 ตามลำดับ พบเป็นชาย 13 ราย หญิง 12 ราย มีอายุระหว่าง 8–74 ปี ค่ามัธยฐานอายุเท่ากับ 37 ปี ซึ่งประกอบอาชีพ ได้แก่ รับจ้าง แม่บ้าน พนักงานบริษัท สํารวจสิ่งแวดล้อมพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง โดยเฉพาะร้อยละของบ้านที่สํารวจพบลูกน้ำยุงลาย (House Index: HI) เท่ากับร้อยละ 37.5 จึงมีการระดมเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรีบดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคอย่างรวดเร็ว และติดตามผู้ติดเชื้อทุกราย โดยค้นหาผู้ติดเชื้อ กําจัดยุงลายและลูกน้ำยุงลาย ให้ครบทุกครัวเรือนในรัศมี 100 เมตรในเวลาสั้นที่สุด รวมถึงติดตามอย่างเคร่งครัดในทุกครัวเรือน
สรุปและวิจารณ์: พบการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในแขวง ยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เนื่องจากไม่เคยพบโรคนี้ในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง ไม่เคยมีการระบาดของโรคมาก่อน อาการของโรคคล้ายโรคติดเชื้อไวรัสไข้ออกผื่นทั่วไป เป็นโรคค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้รวดเร็ว จึงทำให้เป็นการส่งเสริมการเกิดการระบาดในพื้นที่เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมโรคทำให้โรคสงบลงได้
References
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค. คู่มือการป้องกัน ควบคุมโรค ติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ปี 2559 พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงาน กิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรม ราชูปถัมภ์; 2559.
ชวนนท์ อิ่มอาบ, วัฒนชัย ปริกัมศีล. การสอบสวนการระบาด ของโรคไข้เดงกีและโรคไข้เลือดออกเดงกี ในหมู่ที่ 6 ตำบลจอม ประทัด อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี วันที่ 18-26 สิงหาคม 2558. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์. 2559; 47: S22-6.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2018 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ