สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ (ยกเว้นโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด) ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560
คำสำคัญ:
โรคอาหารเป็นพิษ, รายงานเฝ้าระวังโรค, โปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดบทคัดย่อ
บทนำ: อุบัติการณ์ของโรคอาหารเป็นพิษยังคงพบสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโรคที่มีการเฝ้าระวังในประเทศไทย รายงานนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานการณ์ และลักษณะทางระบาดวิทยา ของโรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2556-2560 โดยการศึกษานี้ไม่รวมโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเห็ด เนื่องจากมีรหัสโรคที่แยกกัน
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2560 จากฐานข้อมูลรายงานเฝ้าระวังโรค (รง.506) เหตุการณ์การระบาดของโรคจากรายงานการสอบสวนโรค และข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด (Event-based surveillance) ของสำนักระบาดวิทยา ส่วนเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในคน ได้รวบรวมข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในระบบเฝ้าระวังโรค (รง. 506) ของสำนักระบาดวิทยา และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลการศึกษา: ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 พบอัตราป่วยโรคอาหารเป็นพิษมีแนวโน้มไม่แน่นอน โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในปี พ.ศ. 2559 (211.8 ต่อประชากรแสนคน) และต่ำสุดในปี พ.ศ. 2560 (167.1 ต่อประชากรแสนคน) มีรายงานผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2560 รวม 3 ราย แต่จากฐานข้อมูลโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดพบมี รายงานผู้เสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 ปีละ 6-23 ราย โดยมีค่ามัธยฐาน 13 ราย อัตราป่วยสูงในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน สอดคล้องกับข้อมูลโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดที่มักพบการระบาดในโรงเรียน โดยในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยสูงขึ้นในช่วงเปิดเรียน คือ เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน และในช่วงท่องเที่ยวปลายปี คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และต่อไปถึงมกราคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงสุดในทุกปี รองลงมา คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ จากระบบรง.506 พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 ผู้ป่วยเกือบทั้งหมด (มากกว่าร้อยละ 99) ไม่ทราบสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่เนื่องจากไม่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่ทราบชนิดของเชื้อสาเหตุ พบว่า เชื้อที่พบมากที่สุด คือ Viorio parahaemolyticus รองลงมา คือ Salmonella spp.,, Staphylococcus spp., และ Clostridium perfringens ส่วนจากข้อมูลโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด พบว่าการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการระบาดร้อยละ 45.48 ของเหตุการณ์ทั้งหมด ส่วนที่พบสาเหตุ พบสาเหตุหลัก คือ การติดเชื้อ ซึ่งพบเชื้อก่อโรคหลักเป็นทั้ง เชื้อไวรัสและแบคที่เรียแตกต่างกันไปในแต่ละปี ส่วนอาหารที่น่าจะ เป็นสาเหตุของการระบาดมากที่สุด คือ ข้าวมันไก่ และลาบเนื้อสัตว์ดิบ สำหรับแหล่งการระบาดมักพบในโรงเรียน และพบจาก อาหารที่ซื้อมารับประทานเองหรือปรุงอาหารเองที่บ้าน ซึ่งพบมาก เป็นอันดับหนึ่งหรือสองสลับกันในแต่ละปี
วิจารณ์และสรุปผล: การป้องกันและควบคุมโรคอาหารเป็นพิษควร เน้นเพิ่มดำเนินการในกลุ่มเด็ก ทั้งในสถานศึกษาและในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหา ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด เช่น จำนวน และข้อมูลทั่วไปของผู้เสียชีวิต และสาเหตุของสิ่งก่อโรค ควรถูกนำมารวบรวมอยู่ในฐานข้อมูลรายงานเฝ้าระวังโรค (รง.506) เพื่อให้ระบบเฝ้าระวังมีความสมบูรณ์มากขึ้น
References
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. รายงานการสอบสวนโรคอาหารเป็นพิษ ประจำปี พ.ศ. 2548. กรุงเทพมหานคร: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2549.
กรรณิการ์ หมอนพังเทียม, นิภาพรรณ สฤษดิ์อภิรักษ์. โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning). ใน: นคร เปรมศรี บรรณาธิการ. สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ประจำปี 2560. นนทบุรี: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข; 2561. หน้า 206-9.
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. ระบบรายงานการเฝ้าระวัง โรค 506. [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค; 2561 [สืบค้นวันที่ 27 ส.ค.2561]. เข้าถึงได้จาก : http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/index.php
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. รายงานประจำปี 2560. นนทบุรี: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2561. หน้า 11-8.
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. โปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด (Event-based surveillance). [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพมหานคร: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค; 2561 [สืบค้นวันที่ 27 ส.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.boeeoc.moph.go.th/eventbase/user/login/
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2019 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ