รายงานการสอบสวนการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 11–14 มีนาคม 2562

ผู้แต่ง

  • พัชนีย์ เพลินพร้อม กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • โรม บัวทอง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • ปรางค์ศิริ นาแหลม กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • วิชญาภรณ์ วงษ์บำหรุ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • กัณฐิกา ถิ่นทิพย์ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

คำสำคัญ:

อาหารเป็นพิษ, Bacillus cereus, นักเรียน, โรงเรียน, ระยอง

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: วันที่ 9 มีนาคม 2562 กองระบาดวิทยา กรมควบคุม- โรค ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองว่า พบผู้ป่วย 36 ราย เป็นผู้ป่วยใน 5 ราย รับการรักษาที่โรงพยาบาลเขาชะเมา ด้วยอาการอาเจียน คลื่นไส้ และปวดท้อง ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค กรมควบคุมโรค จึงดำเนินการสอบสวนโรคร่วมกับทีมเฝ้าระวัง สอบสวนเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 11–14 มีนาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของโรค อธิบายลักษณะการเกิดโรคตามบุคคล เวลา และสถานที่ หาสาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรค ตลอดจนเสนอแนวทาง ควบคุมโรคและป้องกันการระบาดในครั้งต่อไป
วิธีการศึกษา: ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาและเชิงวิเคราะห์แบบ Retrospective cohort study เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ตามแบบรายงานสอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรคตามนิยามผู้ป่วย ที่กำหนดสำรวจพื้นที่และรวบรวมข้อมูลสิ่งแวดล้อมบริเวณโรงเรียน สัมภาษณ์แม่ครัวและครูถึงแหล่งวัตถุดิบและวิธีการประกอบอาหาร เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ผู้ประกอบอาหาร อาหาร และน้ำ และอุปกรณ์ ส่งตรวจหาเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ก่อโรคทางเดินอาหารที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิเคราะห์หาชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุด้วยวิธี Univariable analysis และ Multivariable analysis แสดงผลด้วย Relative risk (RR), Adjusted odds ratio (Adj. OR) และ 95% Confidence interval (CI)
ผลการศึกษา: พบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนแห่งนี้ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง พบผู้ป่วยที่เข้าได้กับนิยาม 98 ราย อัตราป่วยร้อยละ 47.12 อาการทางคลินิกที่พบ ได้แก่ อาเจียน ร้อยละ 90.82 คลื่นไส้ ร้อยละ 78.57 และปวดท้อง ร้อยละ 72.45 การระบาดครั้งนี้เป็นแบบแหล่งโรคร่วม (common source) อาหารที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษครั้งนี้ คือ ข้าวคลุกกะปิ (Adj. OR 2.46, 95% CI 0.73–8.24) ต้มแฟงไก่ (Adj. OR 2.04, 95% CI 0.74–5.65) ยำไข่ดาว (Adj. OR 1.85, 95% CI 0.86–3.98) และแกงส้มปลากระป๋อง (Adj. OR 1.78, 95% CI 0.78–4.05) ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ Norovirus Bacillus cereus และ Aeromonas spp.
สรุปและวิจารณ์ผล: การระบาดครั้งนี้น่าจะเป็นการระบาดโดยการ รับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อ Bacillus cereus จากการนำน้ำดิบมาใช้ในการอุปโภค และการปรุงที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ผลการเฝ้าระวังหลังจากเกิดการระบาดในพื้นที่ไม่พบผู้ป่วย และเพื่อป้องกันการระบาดในอนาคตการนำน้ำที่ใช้ในการประกอบอาหาร หรือทำความสะอาดภาชนะควรเป็นน้ำที่ผ่านกระบวนการทำลายเชื้อแล้ว และการพัฒนาทักษะในการสอบสวนโรคเบื้องต้นให้แก่ครูที่รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียน

References

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ความรู้เรื่องโรคอาหารเป็นพิษ [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 25 มีนาคม 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=10

Centers for Disease Control and Prevention. Usual incubation/onset period ranges for select foodborne disease. [cited 2019 March 23]. Available from: http://www.foodborneillness.com/incubation–ranges.pdf

อภิรดี เทียมบุญเลิศ, ทวีศักดิ์ เชี่ยวชาญศิลป์, ยง ภู่วรวรรณ. ท้องเสียจากไวรัส [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 9 พ.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaipediatrics.org/file_upload /files/3A.pdf

ศณิษา สันตยากร, วาที สิทธิ, วิไลภรณ์ วงศ์พฤกษาสูง และ คณะ. รายงานการสอบสวนโรคอาหารเป็นพิษ โรงเรียนอนุบาล แห่งหนึ่ง กรุงเทพมหานคร ธันวาคม 2552. รายงานการเฝ้า ระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์. 2535;5(2):9–15.

มยุรี เปาประดิษฐ์, สุวรรณา เทพสุนทร. คู่มือมาตรฐานการเฝ้า ระวังและสอบสวนโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ สำนักระบาด- วิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สิงหาคม 2546.

ธนิษฐา เตชะนิยม, สรียา เวชวิฐาน, นิรันดร ยิ้มจอหอ, ชุลีพร จิระพงษา. การสอบสวนโรคอาหารเป็นพิษในการประชุม ASEAN Plus Three Field Epidemiology Training Network (ASEAN +3FETN) กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 มกราคม 2556. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์. 2556;44:769–76.

นงนุช จตุราบัณฑิต, โอภาส คันธานนท์, สุขจิต มโนกานต์, วรยศ ผลแก้ว, บุญฤทธิ์ เอกธรรมเสถียร, โรม บัวทอง. รายงานการ สอบสวนโรคอาหารเป็นพิษในสามเณรภาคฤดูร้อนพระอาราม หลวง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา วันที่ 7–12 เมษายน 2555. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์. 2555; 44:257–66.

Hennekinne JA, Ostyn A, Guillier F, Herbin S, Prufer A-L, Dragacci S. How Should Staphylococcal Food Poisoning Outbreaks Be Characterized?. Toxins (Basel). 2010; 2(8): 2106–16.

Taylor AJ, Gilbert RJ. Bacillus cereus food poisoning: a provisional serotyping scheme. J Med Microbiol. 1975;8(4):543-50. doi:10.1099/00222615-8-4-543

Centers for Disease Control and Prevention. Guide to confirming a diagnosis in foodborne disease. [cited 2019 May 11]. Available from: http://www.cdc.gov/outbreaknet/references_resources/guide_confirming_diagnosis.html

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-21

ฉบับ

บท

รายงานโรคเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา