การสอบสวนการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เดือนพฤษภาคม 2558
คำสำคัญ:
ถ่ายเหลว, นักเรียน, ขนมจีบบทคัดย่อ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2558 เวลา 15.40 น. ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยาได้รับแจ้งจากพยาบาลประจำโรงเรียน ชายล้วนแห่งหนึ่ง เขตบางรัก กรุงเทพมหานครว่า มีเด็กนักเรียนและครูป่วยด้วยอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำหลายครั้ง มีคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง จำนวน 42 ราย ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา ได้ออกสอบสวนโรค และควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 28 - 29 พฤษภาคม 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของโรค ศึกษาลักษณะการเกิดโรคและการกระจายของโรค หาสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาด และดำเนินการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค โดยวิธีการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา และเชิงวิเคราะห์แบบ Case-control study ผลการศึกษาพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 47 ราย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 45 ราย และ ครู 2 ราย เกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย 46 ราย เพศหญิง 1 รายเป็นครู ค่ามัธยฐานของอายุผู้ป่วยเท่ากับ 6 ปี โดยผู้ป่วยอายุต่ำสุด 5 ปี อายุสูงสุด 50 ปี เป็นครู กลุ่มประชากรที่เกิดโรคมากที่สุด คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อัตราป่วยร้อยละ 6.53 รองลงมาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อัตราป่วยร้อยละ 2.60 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยในเวลาที่สั้นที่สุด คือ 2 ชั่วโมง ภายหลังรับประทานอาหาร ยาวที่สุด 10 ชั่วโมง ระยะฟักตัวเฉลี่ย 3.70 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน คิดเป็นร้อยละ 100.00, 85.00, 4.25 และ 4.25 ตามลำดับ ไม่มีผู้ป่วยรายใดที่ต้องรับไว้เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ผลการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์แบบ Case-control study พบว่าผู้ป่วยมีอัตราส่วนในการรับประทานอาหารว่างขนมจีบต่อไม่รับประทาน 18.90 เท่า ของผู้ที่ไม่ป่วย (OR = 18.90, 95% CI 5.11- 69.78, p-value < 0.0001) ผลการตรวจอุจจาระ (Rectal swab culture) พบเชื้อ Staphylococcus aureus ในเด็กนักเรียนที่ป่วยจำนวน 3 ใน 4 ราย ในแม่ครัวที่ไม่ป่วยจำนวน 24 คน พบ S. aureus จำนวน 4 ราย เชื้อ Salmonella gr. E จำนวน 1 ราย และเชื้อ Salmonella gr. B จำนวน 1 ราย ผลตรวจมือ (Hands swab) ในแม่ครัว จำนวน 24 คน พบเชื้อแบคทีเรีย Coliform จำนวน 2 ราย ผลการตรวจน้ำดิบก่อนเข้าเครื่องกรองและน้ำดื่มจากเครื่องกรองที่ตู้กดน้ำดื่มหน้าห้องเรียนและโรงอาหาร จำนวน 5 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อก่อโรคกิจกรรมที่ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรค คือ แนะนำให้ทางโรงเรียนหลีกเลี่ยงการจัดเก็บอาหารว่างที่รอเสิร์ฟในช่วงบ่ายที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน ให้สุขศึกษากับผู้ประกอบอาหารในเรื่องหลักสุขาภิบาลอาหาร และสุขอนามัยส่วนบุคคล และความรู้เรื่องโรค อุจจาระร่วงแก่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน รวมทั้งประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เพื่อตรวจสอบและกำกับดูแลร้านอาหารแหล่งผลิตให้ได้มาตรฐาน กำหนดให้มีการเฝ้าระวัง โรคต่ออีก 2 วัน ไม่พบว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้นอีก
References
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคติดเชื้อ ประเทศไทย 2546. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2551.
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. การป้องกันควบคุมและรักษาโรคอาหารเป็นพิษ. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2551.
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือโรคติดต่อทั่วไป เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2551.
กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. คู่มือการเขียนรายงานสอบสวนโรค. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัทนิวธรรมดาการ พิมพ์ (ประเทศไทย) จำกัด; 2557.
David L. Heymann. Control of Communicable Disease Manual. 19th Edition. An official report of the American Public Health Association. Washington, DC. 2008.
Jacques-Antoine Hennekinne, Marie-Laure De Buyser and Sylviane Dragacci. Staphylococcus aureus and its food poisoning toxins: characterization and outbreak investigation. FEMS Microbiology Reviews 36, 2012.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2015 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ