การสอบสวนสิ่งแวดล้อมของการระบาดของโรคลีเจียนแนร์ในนักท่องเที่ยวชาวยุโรป หมู่ที่ 5 ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 2 5 มิถุนายน 2558
คำสำคัญ:
ลีเจียนแนร์, การระบาด, ชาวยุโรป, ตะกั่วป่า, ประเทศไทยบทคัดย่อ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ได้รับแจ้งจากสำนักระบาดวิทยาว่า มีนักท่องเที่ยว 2 ราย ป่วยเป็นโรคลีเจียนแนร์ หลังจากมาพักที่โรงแรมแห่งเดียวกันในตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผู้ป่วย 2 ราย มีวันเริ่มป่วยระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2558 และมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันติดเชื้อ Legionella pneumophila serogroup 1 ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ได้ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการระบาดของโรค ค้นหาสาเหตุของการระบาด ค้นหาแหล่งโรคและเสนอแนะแนวทาง ป้องกันควบคุมโรคที่จำเพาะแก่โรงแรม ทำการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา โดยค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในโรงพยาบาลรัฐของจังหวัดพังงาและโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งค้นหาผู้ป่วยสงสัยในโรงแรม โดยใช้นิยามของสำนักระบาดวิทยา ศึกษาสภาพแวดล้อมของโรงแรม เก็บตัวอย่างน้ำจากห้องพักผู้ป่วย บ่อ พักน้ำ swab สุขภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เก็บตัวอย่างปัสสาวะพนักงานโรงแรมตรวจหาเชื้อโดยวิธี Urinary Antigen Detection และเก็บตัวอย่างเลือดของพนักงานโรงแรม ส่งตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Legionella pneumophila ผลการศึกษา พบผู้ป่วยที่เข้านิยามในการค้นหาทั้งหมด 6 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นชาวยุโรป เป็นผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย ผู้ป่วยสงสัย 4 ราย เพศชาย 4 ราย หญิง 2 ราย อัตราส่วนเพศชายต่อหญิง เท่ากับ 2:1 ค่ามัธยฐานอายุเท่ากับ 50 ปี อายุระหว่าง 10 - 71 ปี ผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย มีประวัติพักที่โรงแรมแห่งเดียวกัน ผู้ป่วยรายแรกเริ่มป่วยวันที่ 10 มีนาคม 2558 รายที่ 2 เริ่มป่วย วันที่ 11 พฤษภาคม 2558 โรงแรมที่ผู้ป่วยทั้ง 2 รายพัก เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลคึกคัก เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวมา 9 ปี นักท่องเที่ยวเป็นชาวยุโรปประมาณร้อยละ 99 ผลการตรวจวัด ระดับคลอรีนตกค้างในน้ำใช้ของโรงแรมมีระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และระดับความร้อนในน้ำร้อนน้อยกว่า 50 องศาเซลเชียส ผลการตรวจตัวอย่างน้ำและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำในโรงแรมพบเชื้อ Legionella pneumophila serogroup 1, Legionella pneumophila serogroup 2-14 and Legionella species การระบาดของโรคลีเจียนแนร์ครั้งนี้เกิดจากการมีเชื้อ Legionella pneumophila อยู่ในน้ำใช้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำในโรงแรม ซึ่งผลการตรวจหาเชื้อก่อโรคในโรงแรมให้ผลบวกต่อ Legionella spp. และยังพบสายพันธุ์ที่ตรงกับผู้ป่วย ได้แก่ Legionella pneumophila serogroup 1 แนะนำให้โรงแรมทำความสะอาดระบบน้ำโดยใช้คลอรีนความเข้มข้นสูง 50 ppm. (Chlorine shock) ทำความสะอาดระบบน้ำร้อนและเย็น และตั้งค่าอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนของน้ำใช้จุดต่าง ๆ ให้สูงกว่า 50 องศาเซลเชียส รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลีเจียนแนร์แก่พนักงานโรงแรม
References
Department of Health and Human Services, Center for Disease Control and Prevention. Procedures for Recovery of Legionellosis from the Environment. Atlanta (U.S.); 2005.
อติเทพ จินดา, ปรารภ บาลบุรี, วิรัตน์ เพาะปลูก, รุ่งทิพย์ นวลศรี, นงนุช จาตุราบัณฑิต, โอภาส คันธานนท์ และคณะ. การสอบสวน สิ่งแวดล้อมในโรงแรมที่เกิดโรคลีเจียนแนในนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์ก เขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2551;39(37):653-7.
กรรณิกา สุวรรณา, โรม บัวทอง, นราศักดิ์ บ่อหนา, สุภาพร ทอง มาแล้ว, นิรันดร ยิ้มจอหอ, หัทยา กาญจนสมบัติ และคณะ. รายงานสอบสวนการระบาดโรคลีเจียนแนร์ในนักท่องเที่ยวชาว ยุโรป บ้านแม่หาด หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 27-28 กันยายน 2557. กรุงเทพมหานคร : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2557. (เอกสารอัดสำเนา)
โรม บัวทอง, รุ่งนภา ประสานทอง, วิวัฒน์ ศีตมโนชน์, ทวีศักดิ์ เนตรวงศ์, ธาริยา เสาวรัญ, ขจรเดช จันทะยานี, นงนุช มารินทร์ และคณะ. การระบาดของโรคลีเจียนแนในนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ภายหลังจากการเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ธันวาคม 2549 - มกราคม 2550: บทบาทของการสอบสวน สิ่งแวดล้อมในประเทศที่เกิดเหตุ. รายงานการเฝ้าระวังทาง ระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2556;44:538-46.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2015 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ