การระบาดของโรคหิดในผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดภูเก็ต วันที่ 1 มกราคม-2 มิถุนายน 2559

ผู้แต่ง

  • วิทิตา แจ้งเอี่ยม กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  • อรนิดา พุทธรักษ์ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  • เมธินี แหล่งหล้าเลิศสกุล กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

คำสำคัญ:

หิด, เรือนจำ, การสอบสวนโรค, ควบคุมโรค

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ออกหน่วยแพทย์ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในเรือนจำจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังโรคติดต่อของผู้ต้องขังในเรือนจำ จากการสอบถามข้อมูลห้องพยาบาลในเรือนจำ พบมีผู้ต้องขังมารับบริการด้วยอาการคล้ายหิด ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2559 จำนวน 67 ราย และมีแนวโน้มจะสูงขึ้น อีกทั้งพบการระบาดของโรคหิดภายในเรือนจำช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 ดังนั้น กลุ่มงานเวชกรรมสังคมจึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องชันสูตร ออกสอบสวนและควบคุมการระบาดของโรคหิดในเรือนจำแห่งนี้ แต่วันที่ 2 มิถุนายน 2559
วิธีการศึกษา: มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการเกิดโรค ค้นหาสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค และเพื่อเสนอแนวทางการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม โดยการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ด้วยการทบทวนการระบาดของโรคหิด การค้นหาผู้ป่วย โดยนิยามโรคผู้ต้องสงสัย ได้แก่ ผู้ที่อาการร่วมกับมีอาการแสดงเป็นผื่น ตุ่มน้ำ ใส รอยเกา โพรงหิด หรือผิวหนักอักเสบ อย่างน้อย 1 อาการแสดง มีการตรวจยืนยันโดยแพทย์ที่ออกดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค ศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มที่ป่วยและไม่ป่วย การสำรวจสิ่งแวดล้อม และดำเนินการควบคุมโรคในผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
ผลการสอบสวน: พบผู้ป่วยสงสัยโรคหิดในผู้ต้องขังชายและหญิง จำนวน 351 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 1,752 คน คิดเป็นอัตราป่วย ร้อยละ 20.03 ผู้ป่วยอายุเฉลี่ย 31.02 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ผู้ป่วยสูงสุดอยู่ในช่วง เดือนพฤษภาคม 2559 ปัจจัยที่คาดว่ามีผลต่อการระบาดของโรค ได้แก่ เรือนนอน การที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด ความแออัดของผู้ต้องขัง การจัดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ประวัติการเคยเป็นหิดมาก่อน และการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
สรุปและวิจารณ์ผล: จากการสอบสวนการระบาดของผู้ป่วยสงสัยโรคหิดในเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ยืนยันได้ว่าเป็นการระบาดของโรคหิดจริง โดยพิจารณาจากผลการรักษาด้วยยารักษาโรคหิดโดยเฉพาะ และอาการทางคลินิก รวมถึงการตรวจพบตัวหิดในผู้ป่วย ปัจจัยเสี่ยงในการระบาด ได้แก่ ความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนนอน และประวัติการเคยเป็นหิดมาก่อน การป้องกันควบคุมโรค ดำเนินการโดยการรักษา ผู้ต้องขังที่ป่วย และผู้ใกล้ชิดไปพร้อมกัน การกำจัดตัวหิดในห้องนอน เรือนนอน และสภาพแวดล้อม การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทำความสะอาดเสื้อผ้าของผู้ต้องขังโดย วิธีการต้มและตากแห้ง ให้ความรู้แก้ผู้ต้องขังถึงความรู้เรื่องโรคหิด รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการและการป้องกันโรค จึงจะสามารถ ทำให้ควบคุมการระบาดของโรคได้ อย่างไรก็ตามได้มีการกำหนด แนวทางร่วมกันกับเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ในการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่องหลังจากการระบาดครั้งนี้

References

ประชาธิป ดิษเจริญ, จักรพงศ์ พุ่มทอง, ศรศักดิ์ บุญมั่น. การสอบสวนการระบาดของโรคหิด ในสามเณรวัดหนองขุนชาติ ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี เดือน มกราคม พ.ศ. 2551 (ออนไลน์). [สืบค้นวันที่ 10 กันยายน 2559]. เข้าถึงได้จาก: http://www.epiduthai.com

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรมราชทัณฑ์ กระทรวง ยุติธรรม. แนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคหิดและภัยสุขภาพในเรือนจำ. กรุงเทพมหานคร: อักษรกราฟฟิคแอนด์ ดีไซด์ (มปท).

Institute of Dermatology. Clinical Practice Guideline for Scabies [online]. 2006 [cited 2015 May 10]. Available from: http://www.inderm.go.th

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-05-28

How to Cite

แจ้งเอี่ยม ว., พุทธรักษ์ อ., & แหล่งหล้าเลิศสกุล เ. (2024). การระบาดของโรคหิดในผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดภูเก็ต วันที่ 1 มกราคม-2 มิถุนายน 2559. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์, 47(49), 769–775. สืบค้น จาก https://he05.tci-thaijo.org/index.php/WESR/article/view/2092

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ