การประเมินระบบเฝ้าระวังของโรคสุกใส โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ปี พ.ศ. 2558
คำสำคัญ:
สุกใส, การประเมินระบบเฝ้าระวัง, ภูเก็ตบทคัดย่อ
ความเป็นมา: ในปี พ.ศ. 2558 มีการระบาดของโรคสุกใสภายในตึกผู้ป่วยเด็ก และเจ้าหน้าที่ภายในแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อการให้บริการกับผู้ป่วยที่จะเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก ดังนั้นกลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจึงได้ทำการประเมินระบบเฝ้าระวังโรคสุกใสในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบคุณลักษณะของระบบเฝ้าระวังทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ
วิธีการศึกษา: ศึกษาขั้นตอนการรายงานโรคสุกใสของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ศึกษาคุณลักษณะของระบบเฝ้าระวังโรคสุกใสทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคสุกใส ทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วย ในตามการวินิจฉัยโรคสุกใสและโรคอื่นที่ใกล้เคียง จากผู้มารับบริการที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2558 ที่มีการวินิจฉัยโรคตามรหัส ICD 10 TM และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในระบบเฝ้าระวังโรคสุกใส
ผลการศึกษา: จากการศึกษาคุณลักษณะเชิงปริมาณ จากการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยตามรหัส ICD 10 ที่เข้ามารับบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2558 รวม 881 ราย เป็นผู้ป่วยเข้านิยามสุกใส 423 ราย รายงานในระบบรายงาน 300 ราย ความไวของระบบเฝ้าระวังเท่ากับร้อยละ 70.92 จำนวนผู้ป่วยโรคสุกใสที่รายงานในระบบ 305 ราย เข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคสุกใส 300 ราย ดังนั้น ค่าพยากรณ์บวกของระบบเฝ้าระวังเท่ากับร้อยละ 98.36 รายงานในระบบสามารถเป็นตัวแทนของระบบเฝ้าระวังโรคได้คุณภาพข้อมูลของระบบเฝ้าระวัง ครบถ้วนและถูกต้องร้อยละ 100 ความทันเวลาของระบบเฝ้าระวังที่ต้องรายงานภายใน 72 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 99.34 ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ ได้แก่ พบปัญหาในการรายงานโรคที่ล่าช้า เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตและลงรหัสโรคผิด ส่วนความยืดหยุ่น ความมั่นคง และการใช้ประโยชน์ของระบบเฝ้าระวังอยู่ในกณฑ์ดี แต่ขาดการยอมรับของบุคลากรในโรงพยาบาล โดยบุคลากร ทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และพนักงานผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ทราบถึงระบบรายงานโรคเท่าที่ควร รวมถึงบุคลากรไม่มีความรู้ ไม่มีความตระหนัก และไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควรถึงโรคที่ตนเป็น
สรุปและวิจารณ์ผล: การประเมินระบบเฝ้าระวังของโรคสุกใสในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ด้านเชิงปริมาณของระบบเฝ้าระวังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งค่าความไว และค่าพยากรณ์บวก รวมถึงความเป็นตัวแทนของประชากร ความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูล อยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก ส่วนคุณลักษณะเชิงคุณภาพ มีปัญหาในเรื่องความยากง่ายของระบบเฝ้าระวัง การรายงานโรคที่ล่าช้า และความยอมรับของระบบเฝ้าระวังจากบุคลากรที่ต่ำ ทำให้ตัวโรคแพร่ไปยังบุคลากรท่านอื่นและผู้ป่วยได้ ควรเพิ่มความง่ายของระบบเฝ้าระวังให้มากขึ้น ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ สร้างความตระหนัก เพื่อให้บุคลากรเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเฝ้าระวังโรค สิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบเฝ้าระวังโรคของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสมบูรณ์ขึ้น
References
กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. นิยาม โรคติดเชื้อ ประเทศไทย 2544. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2544.
เลิศฤทธิ์ ลีลาธร. การวิเคราะห์เชิงพรรณนาข้อมูลระบบเฝ้าระวัง โรคหัดทั้ง 5 มิติของการดำเนินงาน. ใน เสาวพักตร์ นจ้อย, ปภานิจ สวงโท, พิมพ์ภา เตชะกมลสุข, บรรณาธิการ. ผลการวิเคราะห์ระบบเฝ้าระวัง 5 กลุ่มโรค 5 มิติ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ บริษัท ฮีซ์ จำกัด; 2558.
คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ, วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์, ชุลีพร จิระพงษา, บรรณาธิการ. พื้นฐานระบาดวิทยา. สมาคมนักระบาดวิทยาภาศสนาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แคนนา กราฟฟิค; 2559.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2017 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ