การสอบสวนการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ และ บี ในหน่วยฝึกทหารใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 10 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2559
คำสำคัญ:
การระบาด, ไข้หวัดใหญ่, ค่ายทหาร, นครราชสีมาบทคัดย่อ
ความเป็นมา: เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ทีมเฝ้าระวังสอบสวน เคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลค่ายสุรนารีว่า พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในทหารใหม่กองประจำการผลัด 1 ประจำปี พ.ศ. 2559 ในค่ายทหารแห่งหนึ่งจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้นทีม SRRT พื้นที่ร่วมกับทีมจังหวัดสุรินทร์ ลงสอบสวนโรคเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาด ศึกษาระบาดวิทยาของไข้หวัดใหญ่ ตามบุคคล เวลา สถานที่ ระบุปัจจัยเสี่ยงของการระบาด และควบคุม ป้องกันโรค ระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2559
วิธีการศึกษา: ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาโดยค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ตามนิยามผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ คือ บุคลากรในค่ายทหารและทหารกองประจำการที่มีอาการไข้ร่วมกับอาการ ไอ หรือ เจ็บคอ หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-10 มิถุนายน 2559 เก็บตัวอย่างทางเดินหายใจส่งตรวจหาสาร พันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยวิธี RT-PCR และศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์แบบ Retrospective cohort study เพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงกับการเกิดโรค รวมทั้งกำจัดตัวกวนโดยวิธี multiple logistic regression
ผลการสอบสวน: ผลการสอบสวนโรคไข้หวัดใหญ่ในค่ายทหารแห่งนี้พบผู้ที่มีอาการเข้าได้กับนิยามโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด 119 ราย จากเจ้าหน้าที่และพลทหารทั้งหมด 286 ราย อัตราป่วยร้อยละ 41.60 ในกองร้อย ก พบผู้ป่วยยืนยัน Inf(uenza B 8 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 48 ราย อัตราป่วยร้อยละ 50.50 และในกองร้อย ข พบผู้ป่วยยืนยัน Influenza A 1 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 71 ราย อัตราป่วยร้อยละ 37.20 ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดครั้งนี้ คือ การรับประทานอาหาร ร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง การใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน และทำการฝึกใกล้ชิดคนที่เป็นหวัด ภายหลังการวิเคราะห์โดยกำจัดตัวกวน พบปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่แท้จริง คือ การรับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง (adjusted Odds Ratio = 4.45, 95% CI = 1.56-13.17) และทำการฝึกใกล้ชิดกับคนเป็นหวัด (adjusted OR = 4.33, 95% CI = 1.22-14.68)
สรุปและวิจารณ์: กรระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ค่ายทหารแห่งนี้ เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ชนิด A และ B ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นพลทหารใหม่กองประจำการ การกินอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อน กลาง และการฝึกใกล้คนที่เป็นหวัด เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ และได้รับการแก้ไขโดยใช้ช้อนกลางหากรับประทานอาหารร่วมกัน และแยกผู้ป่วยที่สงสัยออกจากกลุ่มปกติ ทั้งการฝึกรวมถึงกิจวัตรประจำวัน ส่งเสริมสุขวิทยาส่วนบุคคล
References
อภิญญา ดวงสิน, อนุพงศ์ สิริรุ่งเรือง, สุภาภรณ์ มิตรภานนท์. การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 (2009) ในกองพันฝึกทหารใหม่ ค่ายทหารแห่งหนึ่ง จังหวัดร้อยเอ็ด เดือน เมษายน-พฤษภาคม 2557. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาด วิทยาประจำสัปดาห์ 2558; 46: 497-503.
อภิชิต สถาวรวิวัฒน์, ภันทิลา ทวีวิกยการ, ไพศิลป์ เล็กเจริญ, โรม บัวทอง, วีรพร จินดาพรหม, นิตยา ช้างสาน, ปณิธี ธัมม วิจยะ. การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A H3N2 ในกองพันทหารแห่งหนึ่ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดือนสิงหาคม 2557. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2559; 47:81-8.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2017 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ