การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อ Coxsackies A16 ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล วันที่ 17-22 มิถุนายน 2559
คำสำคัญ:
โรคมือ เท้า ปาก, Coxsackies A16, การระบาด, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, สตูลบทคัดย่อ
ความเป็นมา: วันที่ 23 มิถุนายน 2559 เวลา 08.00 น. งานระบาดวิทยา กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลท่าแพ ได้รับแจ้งจากครูประจำชั้นศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งว่า มีนักเรียนป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ในห้องเรียนเดียวกันรวม 3 ราย ดังนั้นทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว อำเภอท่าแพ จึงลงสอบสวนโรคในพื้นที่ระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยัน การวินิจฉัยและการระบาดของโรคระบุขอบเขตการระบาด ค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ แหล่งแพร่เชื้อ และควบคุมการระบาด
วิธีการศึกษา: ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา โดยศึกษาข้อมูลการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2558 ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในโรงเรียนและชุมชน โดยใช้นิยามดังนี้ เด็กที่มีผื่นระยะเดียวกันที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า และ/หรือมีแผลในปากในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2559 และทำการตรวจ ยืนยันทางห้องปฏิบัติการโดยวิธี RT-PCR รวมทั้งสำรวจ สภาพแวดล้อมทั่วไปของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ผลการสอบสวน: สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก มีแนวโน้มสูงขึ้นมากในปี พ.ศ. 2558 อัตราป่วยเท่ากับ 95.53 ต่อประชากรแสนคน จากการสอบสวนโรคพบผู้ป่วยที่เข้านิยามโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด 5 คน เรียนอยู่ในชั้นอนุบาล 2/1 ทั้งหมด อัตราป่วยในโรงเรียนร้อยละ 2.08 และอัตราป่วยเฉพาะในห้องเรียน อนุบาลร้อยละ 17.86 เป็นเพศชายร้อยละ 60 มีค่ามัธยฐานอายุเท่ากับ 3 ปี (พิสัย 1-4 ปี) รายแรกเริ่มป่วยวันที่ 17 มิถุนายน 2559 รายสุดท้ายป่วยวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของไวรัส Coxsackies A16 รวม 2 ราย ซึ่งทั้งสองรายนี้มีโรคประจำตัวเป็นโรคหืดทั้งคู่ การจัดกิจกรรม ในห้องเรียนจะเน้นกิจกรรมเรียนร่วมกัน รับประทานอาหารพร้อมกัน
สรุปและวิจารณ์ผล: การระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อ Coxsackies A16 ในนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง โดยพบเพียงหนึ่งชั้นเรียน การระบาดครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดเชื้อแบบแพร่กระจาย และน่าจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงการใช้อุปกรณ์เครื่องเล่นร่วมกัน จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า ภายหลังการทำลายเชื้อในอุปกรณ์เครื่องเล่น ห้องเรียน และปิดเฉพาะห้องเรียน ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมทั้งจากในโรงเรียนและชุมชนภายหลังจากการเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 14 วัน
References
สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการสอบสวนโรค มือ เท้า ปาก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เฮงก็อปปี; 2551.
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. แนวทางเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก สำหรับศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษา. นนทบุรี: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข; 2554.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2017 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ