การระบาดของโรคเลปโตสไปโรสิสในพื้นที่หลังเกิดอุทกภัย จังหวัดกระบี่ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560
คำสำคัญ:
เลปโตสไปโรสิส, อุทกภัย, สายพันธุ์, สัตว์รังโรคกระบี่บทคัดย่อ
ความเป็นมา: เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ว่าพบผู้ป่วยเสียชีวิต สงสัยเลปโตสไปโรสิส 2 ราย จากพื้นที่หลังประสบอุทกภัย 2 อำเภอ เสียชีวิตในสองสัปดาห์ติดกัน ทีมสอบสวนและควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ และโรงพยาบาลกระบี่ ลงพื้นที่สอบสวนควบคุมการระบาด ในวันที่ 26 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาด ระบุขนาดขอบเขตการระบาดและกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่ที่จำเพาะ
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ทำการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในชุมชน โดยใช้นิยามผู้ป่วยสงสัย ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่จังหวัดกระบี่ที่มีอาการไข้ร่วมกับอย่างน้อยสองอาการต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย ปวดน่อง ตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-8 กุมภาพันธ์ 2560 ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันด้วยวิธี MAT, IFA, ELISA, PCR หรือเพาะเชื้อ และทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมโดยการเก็บตัวอย่างจากดิน น้ำ และสัตว์เลี้ยงละแวกบ้านผู้ป่วยยืนยันส่งตรวจด้วยวิธี PCR และเพาะเชื้อ และตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเลปโตสไปร่าด้วยวิธี MAT เฉพาะในสัตว์เลี้ยง
ผลการศึกษา: พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 62 ราย อำเภอเมือง 61 ราย อำเภอเขาพนม 1 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยัน 23 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) เข้าข่าย 2 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) และสงสัย 37 ราย อัตราส่วนชายต่อหญิง 1.3 : 1 ค่ามัธยฐานอายุ 39.5 ปี (2-80 ปี) เริ่มป่วยระหว่างวันที่ 5 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2560 และพบผู้ป่วยสูงสุดในสัปดาห์ที่สาม อาการทางคลินิกที่พบมากที่สุด ได้แก่ ไข้ (100%) ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง (92%) ปวดศีรษะรุนแรง (88%) และปวดน่อง (60%) พบผลบวกด้วยเทคนิค IFA มากที่สุด ร้อยละ 45.1 และ MAT ร้อยละ 29.4 พบสุนัขป่วย 2 ตัว (เสียชีวิต 1 ตัว) ตรวจพบเชื้อเลปโตสปร่า ในไตของสุนัขเสียชีวิต และพบผลบวกด้วยวิธี MAT ในสุนัขป่วย ความชุกของเชื้อก่อโรคในสัตว์ที่พบมาก ได้แก่ Ranarum (ร้อยละ 80) รองลงมา คือ Sejroe (ร้อยละ 70) ส่วนในผู้ป่วยส่วนใหญ่พบ Shermani (ร้อยละ 87) และ Sejroe (ร้อยละ 47) แต่ให้ผลลบในหนูและแมว ตรวจพบเชื้อเลปโตสไปร่ในดินละแวกบ้านผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต โดยวิธีเพาะเชื้อ แต่ไม่พบในน้ำอุปโภค ผลการดำเนินการเฝ้าระวังโรคต่อเนื่อง 30 วัน ไม่พบผู้ป่วยยืนยันและเสียชีวิตเพิ่มเติม
สรุปและวิจารณ์: ยืนยันการระบาดของโรคเลปโตสไปโรสิสจากภาวะอุทกภัยในจังหวัดกระบี่ ปัจจัยที่พบมากในกลุ่มผู้ป่วยยืนยัน ได้แก่ เพศชาย การมีบาดแผล โดยเฉพาะที่เท้า ลักษณะแผลน้ำกัดเท้า และบาดแผลสัมผัสน้ำโดยตรง ตรวจพบเชื้อเลปโตสไปร่าชนิดก่อโรคในสัตว์เลี้ยงและฟาร์มที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้นในสัตว์ เนื่องจากเป็นสัตว์ใหญ่อาจปล่อยเชื้อปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ในปริมาณมาก และเชื้ออยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อม
References
ดิเรก สุดแดน, วราลักษณ์ ตังคณะกุล, มนูศิลป์ ศิริมาตย์, นิคม สุนทร, ไพบูลย์ทนันไชย, สลักจิต ชุติพงษ์วิเวท และคณะ. ปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นโรคฉี่หนูหลังจากอุทกภัยครั้งใหญ่จังหวัดน่าน สิงหาคม-กันยายน ปี 2549. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2551; 39: 162-5.
ดิเรก สุดแดน, ถนอม น้อยหมอ, วราลักษณ์ ตังคณะกุล, มนูศิลป์ ศิริมาตย์, ไพบูลย์ทนันไชย, สลักจิต ชุติพงษ์วิเวท และคณะ. การ ระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของโรคฉี่หนูในประเทศไทยจากอุทกภัย เดือนสิงหาคม-กันยายน 2549. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 25503 38: 885-90.
ดาริกา กิ่งเนตร. คู่มือวิชาการโรคเลปโตสไปโรสิส กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข; 2543. หน้า 91-103.
ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 จังหวัดสงขลา. ชีโรกรุ๊ปของเชื้อเลปโตสไปราที่ระบาดในพื้นที่จังหวัดสงขลาหลังน้ำท่วม ปี 2553. [วันที่เข้าถึง 22 กรกฎาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก http://www.rmscsongkhla.go.th/document
สุรชัย จิตต์ดำรงค์, เอนก มุ่งอ้อมกลาง, เอมอร ไชยมงคล, ดวงใจ สุวรรณ์เจริญ และวราลักษณ์ ตังคณะกุล. การระบาดของโรคเลปโตสไปโรสิสในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล พ.ศ. 2550. วารสารวิชาการสาธารณสุข 25543 20 (ฉบับเพิ่มเติมที่ 1): 104-14.
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือวิชาการโรคเลปโตสไปโรสิส. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2548.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2017 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ