การระบาดโรคอาหารเป็นพิษของกรุ๊ปทัวร์ในโรงแรมแห่งหนึ่ง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด วันที่ 11-13 มิถุนายน 2559

ผู้แต่ง

  • โมไนยา พฤทธิภาพย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด
  • เสาวลักษณ์ ชูบางบ่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด
  • สุพจน์ รัตนเพียร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด
  • เบญจวรรณ ตันเจริญ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเกาะช้าง

คำสำคัญ:

อาหารเป็นพิษ, Vibrio parahaemolyticus, แหล่งโรคร่วม, การระบาด

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2559 เวลา 10.00 น. งานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ได้รับแจ้งจากคลินิกอินเตอร์เนชั่นแนลเกาะข้างว่ามีผู้ป่วย 11 ราย มารักษาด้วยอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน โดยผู้ป่วยเป็นนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์บริษัท A และพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง ในตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ดังนั้นทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จังหวัดตราดร่วมกับอำเภอเกาะช้างสอบสวนและควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย อธิบายลักษณะทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคหาสาเหตุ และแนวทางการป้องกันควบคุมการระบาด
วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา และเชิงวิเคราะห์ แบบ Case-control Study กำหนดนิยามผู้ป่วย คือ นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์บริษัท A และพนักงานโรงแรมที่ร่วมงานเลี้ยงโรงแรมเย็นวันที่ 11 มิถุนายน 2559 และมีอาการใดอาการหนึ่งดังนี้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว คลื่นไส้ หรืออาเจียน เก็บข้อมูลโดย การสัมภาษณ์และบันทึกลงในแบบสอบสวน เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการสำรวจข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ทางสถิติด้วยค่า Odds ratio (OR) และ 95% Confidence interval (95%CI) โดยช้โปรแกรม Epi Info version 3.5
ผลการศึกษา: พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 119 ราย เป็นกรุ๊ปทัวร์ บริษัท A 113 ราย พนักงานโรงแรม 6 ราย อัตราป่วยร้อยละ 46.12 ลักษณะการแพร่กระจายเชื้อแบบมีแหล่งโรคร่วมผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดท้อง (ร้อยละ 87.39) รองลงมาคือ ถ่ายเหลว, คลื่นไส้ อาเจียน, ถ่ายเป็นน้ำ ตามลำดับ ผลตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระผู้ป่วยพบเชื้อ Vibrio parahaemolyticus และผู้ที่ป่วยรับประทานหอยแมลงภู่อบ, กุ้งแชบ๊วยนึ่ง และหมึกย่างมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยหอยแมลงภู่อบ มีค่า OR 6.26 (95%CI, 3.60-10.87), กุ้งแชบ๊วยนึ่งมีค่า OR 7.45 (95%CI, 3.95-14.07), หมึกย่างมีค่า OR 2.92 (95%CI, 1.72-4.97)
สรุปและข้อเสนอแนะ: การระบาดครั้งนี้ อาหารที่สงสัยว่าน่าจะเป็นสาเหตุ คือ หอยแมลงภู่อบ, กุ้งแชบ๊วยนี่ง และหมึกย่าง ซึ่งเป็นอาหารที่ทางบริษัททัวร์จัดหามาเอง คาดว่าสาเหตุอาจเกิดจากเชื้อโรคในของสดมีการปนเปื้อนขณะขนย้าย การล้างอาหารดิบก่อนการประกอบอาหาร การปรุงอาหารที่สุกไม่ทั่วถึง และการเก็บไว้นานก่อนนำมารับประทาน จึงควรระมัดระวังในการนำอาหารจากภายนอกมาร่วมในงานเลี้ยงของโรงแรม ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุก และไม่จัดเตรียมไว้นานเกินไป

References

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2546.

พงษ์เดช สารการ. คู่มือการใช้งานโปรแกรม Epi Info for Windows (ออนไลน์). 2556 [เข้าถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559]. เข้าถึงได้จาก: https://www.slideshare.net/BanjongArdkham/epi-info-unit01

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ความรู้เรื่องโรคอาหารเป็นพิษ (ออนไลน์). [เข้าถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2559]. เข้าถึงได้จาก: http://www.boe.moph.go.th

สุรีย์ นานาสมบัติ, นวรัตน์ โพธิราช, ประทุม แสนมา, วรรธนนท์ หาเพิ่มพูน, สิทธิโชค ศิริศรชัย. การตรวจหาการปนเปื้อน Vibrio parahaemolyticus ในอาหารทะเลสดที่จำหน่ายในกรุงเทพ และการศึกษาการต้านทานความร้อน. วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ (ออนไลน์). 2556 [เข้าถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559]; 16 (3): 175-84. เข้าถึงได้จาก : https://www.tci-thaijo.org/index.php/tsujournaV/article/down load/43419/35876

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-06-03

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ