การประเมินผล "การพัฒนาทีมและการเตรียมความพร้อมของทีม SRRT เครือข่ายระดับตำบล" ภายใต้ "โครงการพัฒนากลไกสนับสนุนการพัฒนาอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน ประจำปี 2554 กรมควบคุมโรค"

ผู้แต่ง

  • วนัสสนันท์ รุจิวิพัฒน์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ทิวากร จันทร์โคตร สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ปณิตา คุ้มผล สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

บทคัดย่อ

การศึกษาเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมิน ภาพรวมการดำเนินงานโครงการ "พัฒนาทีมและการเตรียมความ พร้อม SRRT เครือข่ายระดับตำบล" ภายใต้ "โครงการพัฒนากลไก สนับสนุนการพัฒนาอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน ประจำปี 2554 กรมควบคุมโรค" โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบชิปป์ (CIPP model) สำหรับข้อมูลการประเมินได้จากการศึกษาเอกสารโครงการและผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานที่ผ่าน มา (พ.ศ. 2548 - 2554) มีการทำ Focus group คณะผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่ บุคลากรกลุ่มงานสนับสนุนภาคีเครือข่ายจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบเองจากกลุ่มเป้าหมาย SRRT เครือข่ายระดับตำบล 2,775 แห่ง สุ่มตัวอย่างแบบหลายชั้น (Multi-stage Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 110 รพ.สต. ใน 29 จังหวัด ของ 12 เขตพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคสมาชิก SRRT เครือข่ายระดับตำบล จำนวน 652 คนได้ส่งกลับแบบสอบถาม
ผลการวิเคราะห์ พบว่า ในเชิงบริบทโครงการพัฒนาทีม และการเตรียมความพร้อมของทีม SRRT เครือข่ายระดับตำบลมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เนื่องจากการมี SRRT ในระดับตำบล เป็นเกณฑ์ข้อหนึ่งในการยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์เป็นการเสริมสร้างความ เข้มแข็งให้กับ SRRT ระดับอำเภอ นอกจากนั้น ยังมีจุดแข็งที่ระบบนี้ มีองค์ประกอบของทีมที่มีสมาชิกมาจากพื้นที่ เช่น อปท. ผู้นำชุมชน ในด้านปัจจัยนำเข้าและกระบวนการกรมควบคุมโรคได้สนับสนุนงบประมาณ 17,410,000 บาท สำหรับส่วนกลาง 6,960,000 บาท ระดับจังหวัด 10,450,000 บาท การดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นไปตามกรอบเวลา ส่วนผลผลิต พบว่า สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ อบรม SRRT เครือข่ายระดับตำบลได้ครบ 2,775 แห่ง และมีการนิเทศติดตามงานใน 18 จังหวัด
สำหรับองค์ประกอบของทีมที่ได้ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถาม 652 คน พบว่า มีผู้เข้ารับการอบรมร้อยละ 72.7 ไม่ได้ เข้ารับการอบรม ร้อยละ 27.3 สาเหตุของการไม่ได้รับการอบรม คือ การไม่ได้รับหนังสือเชิญ และเข้าใจว่าไม่ใช่งานในความรับผิดชอบ ร้อยละ 54.2 ผู้เข้ารับการอบรมมีความคิดเห็นถึงศักยภาพในการปฏิบัติงานต่างจากผู้ไม่ได้เข้ารับการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Odds Ratio = 5.32, 95% Confidence Interval = 2.97, 9.95) ผู้ตอบแบบสอบถามเข้าใจหลักการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ในพื้นที่โดยใช้หลัก 3 เร็ว (รู้เร็ว แจ้งเร็ว ควบคุมเร็ว) สูงถึงร้อยละ 90.6 ผลการประเมินประโยชน์ของคู่มือ พบว่า มีประโยชน์มากและปานกลาง ร้อยละ 53.7 และ 29.3 ตามลำดับ จากผลการประเมิน เบื้องต้นนี้ เห็นควรให้มีการประเมินผลระหว่างและหลังการ ดำเนินงาน เพื่อได้ประเด็นสำคัญใช้ในกระบวนการพัฒนาและฝึกอบรม SRRT เครือข่ายระดับตำบลในส่วนที่เหลือต่อไป

References

กลุ่มพัฒนานโยบายยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. รายงานการประเมินผลนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในระยะนำร่องของปี 2552, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหาร ผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์. 2553.

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการเฝ้าระวังเหตุการณ์และควบคุมโรคระบาดในชุมชน. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. 2554.

มานิต ธีระตันติกานนท์. นโยบายการสร้างอำเภอเข้มแข็งด้านการควบคุมโรคและการพัฒนาเครือข่าย SRRT ระดับตำบล. กันยายน 2553. (เอกสารอัดสำเนา)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-06-26

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ