สถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญในศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย - พม่า ปี พ.ศ. 2548 - 2552

ผู้แต่ง

  • ปภานิจ สวงโท สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ดารินทร์ อารีย์โชคชัย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • วิทยา สวัสดิวุฒิพงศ์ โรงพยาบาลแม่สอด

คำสำคัญ:

โรคติดต่อ, การเฝ้าระวังโรค, ศูนย์พักพิงตามแนวชายแดน, ลักษณะทางระบาดวิทยา

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทราบลักษณะทางระบาดวิทยาของโรคติดต่อที่สำคัญในศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย - พม่า เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) จากการรวบรวม รายงานจากระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อ ในศูนย์พักพิงตามแนวชาย แดนไทย - พม่า ของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างปี พ.ศ. 2548 - 2552 นำเสนอข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่ามัธยฐาน และอัตราป่วย ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในช่วงระยะเวลา ดังกล่าว ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (influenza like illness; ILI) มีรายงานเฉพาะในปี พ.ศ. 2552 กล้ามเนื้ออัมพาตอ่อนปวกเปียกแบบเฉียบพลัน (acute flaccid paralysis; AFP/suspected poliomyelitis) มีรายงานใน ปี พ.ศ. 2550 และ 2552 ส่วนรายงานการระบาดของอหิวาตกโรค พบเกือบทุกปี ยกเว้นในปี พ.ศ. 2549 โดยปี พ.ศ. 2550 มีอัตราป่วยสูงสุด และพบผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2548 จำนวน 2 ราย สำหรับโรคติดต่ออื่น ๆ ในกลุ่มที่ตรวจจับความผิดปกติจากค่าระดับความผิดปกติ (threshold) พบว่า โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าระดับความผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก อุจจาระร่วงเป็นน้ำ อุจจาระเป็นมูกเลือดเฉียบพลัน และมาลาเรีย โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ในปี พ.ศ. 2548 จำนวน 2 ราย และ พ.ศ. 2549 จำนวน 4 ราย โรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำ มีผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2548 และ 2549 ปีละ 2 ราย โรคอุจจาระเป็นมูกเลือดเฉียบพลัน มี ผู้เสียชีวิต 2 รายในปี พ.ศ. 2550 และโรคมาลาเรีย มีผู้เสียชีวิตสูง ที่สุดในปี พ.ศ. 2548 จำนวน 16 ราย จากข้อมูลการเฝ้าระวังดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังคงมีจำนวนผู้ป่วยเกินกว่าค่าระดับความผิดปกติ หรือมีการระบาดต่อเนื่องเป็นเวลานานในศูนย์พักพิงฯ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรสนับสนุน ดำเนินการสอบสวน และควบคุมโรคทันที ที่พบความผิดปกติเกิดขึ้น รวมทั้งควรประเมินระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อในศูนย์พักพิงตามแนวชายแดน เพื่อหาแนวทางพัฒนาและแก้ไขข้อบกพร่องของระบบเฝ้าระวังโรคอย่างจริงจัง

References

Bureau of Epidemiology. Guideline for Diseases Surveillance in Border Camps, Thailand. Nonthaburi: Bureau of Epidemiology, Department of Disease Control. Ministry of Public Health; 2008.

สุเมธ องค์วรรณดี, อัสชน บุญมาดำ, อดิศักดิ์ มงคล. การระบาดของโรคหัดในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่ละอูน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดือนเมษายน ถึง สิงหาคม 2551. รายงานการเฝ้าระวังประจำสัปดาห์ 2552; 40: 205-10.

Bureau of Epidemiology. Guideline for Diseases Surveillance in Displaced Person Temporary Shelter Thai – Myanmar Border, 2012. Nonthaburi: Bureau of Epidemiology, Department of Disease Control. Ministry of Public Health; 2012.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-06-26

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ