ความชุกของซิฟิลิสแต่กำเนิดในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ศณิษา ตันประเสริฐ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลลำปาง

คำสำคัญ:

ชิฟิลิสแต่กำเนิด, ความชุกของซิฟิลิส, ความชุกของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิสในประเทศไทย, เชื้อ Treponemal pallidum

บทคัดย่อ

หลักการและเหตุผล ประเทศไทยมีการกำหนดให้ตวจคัดกรองซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย แต่ยังไม่มีระบบเฝ้าระวังโรคในหญิงตั้งครรภ์และซิฟิลิสแต่กำเนิด ข้อมูลปัจจุบันมีเพียงข้อมูลซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ จากการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ของงานโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักระบาดวิทยา ซึ่งยังไม่สามารถประมาณค่าความชุกของซิฟิลิสแต่กำเนิดได้รวมถึงยังขาดข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกของซิฟิลิสแต่กำเนิดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 - 30 กันยายน 2552 เพื่อทราบระบบการดำเนินการเมื่อพบหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิส และเสนอแนวทางในการปฏิบัติหรือมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการกำจัดซิฟิลิสในประเทศไทย
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาโดยศึกษาข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอกและในของหญิงตั้งครรภ์ที่ผลตรวจพบชิฟิลิสสามี และทารก ที่มารับบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งใน 8 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศไทย และโรงพยาบาลอีก 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 - 30 เมษายน 2554
ผลการศึกษา ข้อมูลจากโรงพยาบาล 150 แห่ง พบหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 99 ได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส ร้อยละ 0.16 มีผลบวกต่อการตรวจคัดกรองและร้อยละ 0.14 มีผลบวกต่อการตรวจยืนยัน มีหญิงตั้งครรภ์ 103 คน และเด็กทารก 14 คน (0.10 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน) ที่เข้าได้กับนิยามซิฟิลิสบวกของการศึกษา ข้อมูลสูตินรีแพทย์พบว่าทุกโรงพยาบาลสามารถตรวจคัดกรองซิฟิลิสได้มากกว่าครึ่งสามารถตรวจยืนยันซิฟิลิส ปัญหาที่พบบ่อย คือ การติดตามสามี มาตรวจชิฟิลิสกรณีภรรยามีผลบวก และปัญหาการติดตามหลังการรักษาซิฟิลิสของหญิงตั้งครรภ์ สามี และทารก เนื่องจากการไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่น รวมถึงมีหลายหน่วยงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เก็บข้อมูลเรื่องซิฟิลิสแต่ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล
สรุปและข้อเสนอแนะ ตัวชี้วัดที่ผ่านเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือ ความชุกของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นซิฟิลิส ชิฟิลิสแต่กำเนิดต่ำ สัดส่วนหญิงตั้งครรภ์ สามี และทารก ได้รับการตรวจและการรักษาสูง หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ สัดส่วนของซิฟิลิสแต่กำเนิดที่ได้รับการรักษา ถึงแม้ว่าชิฟิลิสจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันรักษาได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสนใจกับโรคนี้เท่าที่ควรการเน้นย้ำปัญหานี้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร จะทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-07-05

How to Cite

ตันประเสริฐ ศ. (2024). ความชุกของซิฟิลิสแต่กำเนิดในประเทศไทย. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์, 44(6), 81–88. สืบค้น จาก https://he05.tci-thaijo.org/index.php/WESR/article/view/2937

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ