การสอบสวนการระบาดของโรคไอกรน ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เดือนพฤษภาคม 2557
คำสำคัญ:
ไอกรน, การระบาด, การติดเชื้อในโรงพยาบาลบทคัดย่อ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โรงพยาบาลลำลูกกาได้รับแจ้งจากสำนักระบาดวิทยาว่า พบผู้ป่วยเด็กได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคไอกรน เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในแผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 4 - 15 พฤษภาคม 2557 จึงร่วมกับทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี สำนักระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กรุงเทพฯ ลงสอบสวนโรค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ประเมินขอบเขตของการระบาด โดยการค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมโดยกำหนดนิยาม และทำการควบคุมการระบาด ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2557 โดยใช้วิธีศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ทบทวนเวชระเบียน เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจศึกษาสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดนิยามผู้ป่วยสงสัย คือ ผู้มีอาการ ไออย่างน้อย 1 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 เมษายน - 10 พฤษภาคม 2557 ร่วมกับไอเป็นชุด หรือมีเสียงหายใจดังฮู้บ หรืออาเจียนหลังการไอ และนิยามผู้ป่วยยืนยัน คือ ผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ใหญ่ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับมีผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ Bordetella pertussis โดยวิธี Real time-PCR นิยามผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ หมายถึง ผู้สัมผัสผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการป่วยทางเดินหายใจ และผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ B. pertussis โดยวิธี Real-time PCR ผลการสอบสวน พบผู้ป่วยเด็กชายไทย อายุ 1 เดือน 20 วัน อาศัยอยู่กับมารดา บิดา ปู่ ย่า และน้าสาวที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เริ่มป่วยวันที่ 20 เมษายน 2557 โดยมีอาการไอเป็นชุด ๆ ไอจนอาเจียนเป็นเสมหะ คัดจมูก ไม่มีไข้เป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ มารดาพาไปพบแพทย์ที่คลินิกใกล้บ้าน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัด ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น เริ่มมีไข้ ไอ หอบ เสมหะสีเขียว มารดาจึงพาผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2557 ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปอดอักเสบ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แพทย์ให้กลับบ้านได้ และนัดตรวจช้ำ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พบผู้ป่วยหายดีแล้ว ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โรงพยาบาลได้รับผลตรวจ Nasopharyngeal swab ยืนยันพบสารพันธุกรรมของเชื้อ B. pertussis จากการสัมภาษณ์พบว่า มาดามีอาการคล้ายไข้หวัดก่อนผู้ป่วยป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ การตรวจ Nasopharyngeal swab ให้ผล PCR for B. pertussis เป็นบวกเช่นกัน จากการตรวจ Nasopharyngeal swab ของแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วย 10 คน เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย 24 คน และญาติผู้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้ออีก 4 คน พบสารพันธุกรรมเชื้อ B. pertussis ในแพทย์ 1 คน เจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย 4 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อไม่แสดง อาการ และได้รับยาปฏิชีวนะรักษาเป็น Azithromycin รับประทานวันละครั้ง เป็นเวลา 3 วัน ส่วนญาติผู้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการมีผลการตรวจเป็นลบ จากการสอบสวนสรุปได้ว่าการระบาดครั้งนี้มีผู้ป่วยไอกรน 2 ราย เป็นแม่และลูก นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ 5 รายเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งน่าจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยเด็กที่รับการรักษาในโรงพยาบาล ทีมสอบสวนโรคได้แนะนำให้ผู้ปกครองพาผู้ป่วยไปรับการฉีดวัคซีนตาม ตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และให้ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไอกรนและการฉีดวัคซีนให้กับสมาชิกครอบครัว รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของการเฝ้าระวัง และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
References
กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการดำเนินงานทางระบาดวิทยา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้า; 2542.
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย 2546. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2546. หน้า 40-1.
กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข. การสอบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุ; 2543.
สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการเก็บและส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรณีการสอบสวนโรค/ภัย สำหรับ SRRT. นนทบุรี: สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข; 2551.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2014 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ