การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษในกลุ่มเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ จังหวัดปทุมธานี ในโรงแรมแห่งหนึ่ง จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2556

ผู้แต่ง

  • ไพศาล ภู่สามสาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
  • จักรพันธ์ โรจน์สุนทรกิตติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
  • สกุลตรา ศิวเมธีกุล โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
  • วรรณา วิจิตร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก

คำสำคัญ:

ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT), พิษณุโลก, การสอบสวนโรค, อาหารเป็นพิษ

บทคัดย่อ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2556 เวลา 09.00 น. งานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากกลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลกว่า พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเป็นจำนวนมาก เข้ารับการรักษาในแผนกห้องฉุกเฉิน ภายหลังจากรับประทานอาหารมื้อเย็นร่วมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงสอบสวนโรคเพื่อยืนยันการระบาดของโรค และควบคุมการระบาดในระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2556 ทำการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา เพื่อศึกษารายละเอียดของผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการแสดงและการรักษาที่ได้รับพร้อมทั้งทำการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยกำหนดนิยามผู้ป่วย หมายถึง เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ที่เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก และมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ถ่ายอุจจาระเหลว ปวดมวนท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ ระหว่างวันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2556 ทำการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ เพื่อค้นหาอาหารที่น่าจะเป็นสาเหตุของการระบาดของโรค และทำศึกษา สิ่งแวดล้อมในโรงแรม รวมทั้งเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยและผู้ประกอบอาหาร ภาชนะและเครื่องครัวที่ใช้ประกอบและรับประทานอาหาร เพื่อส่งตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารทางห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษา พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในครั้งนี้ รวม 86 ราย จากผู้ที่ร่วมกิจกรรมทั้งหมด 107 คน ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี อัตราป่วยร้อยละ 80.37 (86/107) พบเพศชายมีอัตราป่วยร้อยละ 78.46 (51/65) และเพศหญิงมีอัตราป่วยร้อยละ 83.33 (35/42) ผู้ป่วยทั้งหมดมีค่ามัธยฐานของอายุเท่ากับ 48 ปี (พิสัย 24 - 59 ปี) อาการของผู้ป่วยที่พบมากที่สุดอันดับแรก ได้แก่ ถ่ายเป็นน้ำ (96.51%) รองลงมาได้แก่ อ่อนเพลีย, ปวดมวนท้อง (54.65%) มีไข้ (39.53%) และถ่ายเหลว (36.05%) จากการวิเคราะห์ทางสถิติที่ ค่าความเชื่อมั่น 99%CI พบว่าอาหารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค ได้แก่ ผัดผักรวมกุ้งสด และปลานิลทอดแดดเดียว ซึ่งเป็นรายการอาหารมื้อกลางวันของวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ในอุจจาระผู้ป่วย 16 ราย ไม่พบเชื้อก่อโรคในอุจจาระของกลุ่ม ผู้ประกอบการ และพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในตัวอย่างจากการป้ายมือผู้ประกอบอาหาร/ป้ายภาชนะที่ใช้ประกอบอาหารอย่างละ 2 ตัวอย่าง (มีดสับและเขียง) และเมื่อได้พิจารณาถึงอาการของผู้ป่วยระยะเวลาของการเกิดโรค และผลทางจุลชีววิทยา พบว่าการเกิดโรคในครั้งนี้น่าจะเกิดจากการติดเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ซึ่งมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหาร ได้แก่ กุ้งสดที่ผู้ประกอบการได้เตรียมและประกอบอาหารในช่วงเช้าและนำมาให้ผู้เข้าร่วม ประชุมรับประทานในมื้อกลางวัน โดยอาหารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคในครั้งนี้ คือ ผัดผักรวมกุ้งสด ทีม SRRT ได้ให้สุขศึกษาเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มในกลุ่มผู้ป่วยและผู้ประกอบการ โดยเน้นในเรื่องหลักสุขาภิบาลอาหารและสุขอนามัยส่วนบุคคล ตลอดจนการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ พร้อมกันนี้ได้ประสานกับ ทีม SRRT ปทุมธานี เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในพื้นที่ และจากการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ไม่พบว่ามีรายงานการเกิดโรคเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยทั้งหมดได้หายเป็นปกติทำให้ทราบว่าสถานการณ์ระบาดของโรคได้ยุติลง

References

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ปีที่ 8 ฉบับที่ 90 ประจำเดือนกรกฎาคม 2556. เอกสารอัดสำเนา.

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ระบาดวิทยาเชิงปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรค สำหรับทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต, 2548.

สุริยะ คูหะรัตน์. การสอบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อประเทศ ไทย, "โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารและน้ำ". กระทรวงสาธารณสุข : กองระบาดวิทยา กลุ่มงานระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ กรมควบคุมโรคติดต่อ, 2543;59-89.

ศรีวรรณา หัทยานานนท์. สาระน่ารู้เกี่ยวกับเชื้อ Vibrio parahaemolyticus. เอกสารเผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ผ่านศูนย์ ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค. เข้าถึงได้จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?i nfo_id=890

กมลชนก เทพสิทธา. บทความแปล Norwalk - Like Viruses: ผลกระทบด้านสาธารณสุขและการควบคุมการระบาด. ("Norwalk-Like Viruses" Public Health Consequences and Outbreak Management). เข้าถึงได้จาก http://203.157.19.193/weekly/w_2549/Supple ment49/Sup49_s3/Sup49_s3_2.html

จรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์. เชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ. ศูนย์ขอมูลพิษวิทยา (homepage on the Internet). เข้าถึงได้จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_ _1_001c.asp?info_id=69

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-07-13

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ