การสอบสวนโรคไวรัสตับอักเสบเอในพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จังหวัดสมุทรปราการ เดือนตุลาคม 2561

ผู้แต่ง

  • วัลภา ศรีสุภาพ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • คนึงนิจ เยื่อใย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • กัณฐิกา ถิ่นทิพย์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • ธนัญญา สุทธวงศ์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • อินฉัตร สุขเกษม สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
  • นวลปราง ประทุมศรี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี
  • นภัทร อยู่ดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมทรปราการ
  • สัญญา กิตติสุนทโรภาศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก

คำสำคัญ:

โรคไวรัสตับอักเสบเอ, การระบาด, จังหวัดสมุทรปราการ, จังหวัดนครนายก

บทคัดย่อ

บทนำ: วันที่ 4 ตุลาคม 2561 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ว่ามีพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบเอ 28 ราย ซึ่งทั้งหมดทํางานอยู่ทีม A ของฝ่าย Collection in house โดยกลุ่มพนักงานดังกล่าวได้ไปจัดประชุมนอกสถานที่ในจังหวัดนครนายก ระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2561 และมีการรับประทานอาหารร่วมกันที่รีสอร์ท B ร้านอาหาร C และร้านอาหาร D จังหวัดนครนายก สำนักระบาดวิทยาจึงได้ร่วมกับทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรค เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาด ศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยา ค้นหาแหล่งโรคและวิธีถ่ายทอดโรค และให้ข้อเสนอแนะในการควบคุมป้องกันการระบาด
วิธีการศึกษา: ใช้การศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา โดยการทบทวนข้อมูลจากทะเบียนบันทึกการเจ็บป่วยของพนักงานบริษัท การค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพนักงานบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ และในพนักงานของรีสอร์ท B ร้านอาหาร C และร้านอาหาร D จังหวัดนครนายก การเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยสงสัย ตัวอย่างน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำแข็ง ตัวอย่างวัตถุดิบ และการศึกษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสมุทรปราการและนครนายก
ผลการศึกษา: พบพนักงานของบริษัทเอกชนป่วยทั้งสิ้น 55 ราย ทั้งหมดไปร่วมประชุมนอกสถานที่ในจังหวัดนครนายก จากผู้ร่วมประชุมทั้งหมด 292 ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 18.8 โดยเป็นผู้ป่วยสงสัย 48 ราย และผู้ป่วยยืนยัน 7 ราย อัตราส่วนเพศชายต่อ เพศหญิง 1 : 1.9 อายุระหว่าง 23-53 ปี ค่ามัธยฐาน 36 ปี อาการที่พบ ได้แก่ ไข้ (ร้อยละ 96.3) รองลงมาคือ อ่อนเพลีย (ร้อยละ 94.3) เบื่ออาหาร (ร้อยละ 77.4) ปัสสาวะเข้ม (ร้อยละ 73.9) คลื่นไส้ (ร้อยละ 69.8) และตัวเหลืองตาเหลือง (ร้อยละ 58.5) รายแรกเริ่มป่วยวันที่ 10 กันยายน 2561 หลังกลับจากประชุมนอกสถานที่ประมาณ 15 วัน และรายสุดท้ายเริ่มป่วยวันที่ 12 ตุลาคม 2561 จากการสอบสวนโรคตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบเอใน พนักงานเสิร์ฟอาหาร 1 รายที่ไม่มีอาการป่วย และพบในน้ำใช้ในห้องครัว 2 จุด (น้ำใช้ผ่าน/ไม่ผ่านเครื่องกรองน้ำ) ของร้านอาหาร C แห่งเดียวกัน ซึ่งแหล่งน้ำใช้มาจากบ่อน้ำตื้นของร้านอาหารซึ่งอยู่ระหว่างห้องส้วม 2 แห่ง ในระยะ 10 และ 15 เมตร และไม่มีการเติมคลอรีนในระบบน้ำใช้
สรุปและวิจารณ์ผล: การสอบสวนนี้ยืนยันการระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบเอ ในพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร C จังหวัดนครนายก โดยแหล่งแพร่โรคอาจมาจากน้ำในห้องครัวที่มาจากบ่อน้ำตื้นของร้านอาหาร และพบพนักงานในร้านดังกล่าวมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอที่ไม่มีอาการ การส่งเสริมในเรื่องสุขาภิบาลอาหาร อนามัยสิ่งแวดล้อม สุขวิทยาส่วนบุคคล และมาตรฐาน Clean food good taste ในสถานประกอบการร้านอาหาร จะช่วยป้องกันโรคได้

References

สุริยะ คูหะรัตน์. นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2546.

Fiore AE. Hepatitis A transmitted by food. Clin Infect Dis 2004; 38: 705–15.

Klevens M, Lavanchy D, Spradling P. Hepatitis: viral. In: Heymann DL, editor. Control of communicable diseases. 19th ed. Washington: United Book Press; 2008. p.278-84.

สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือ ความรู้สู่ประชาชน อนามัยสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555.

พรทิพา สุทนต์. การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขี้เถ้าแกลบ และเรซินในการกรองน้ำดื่ม. [สารนิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์; 2552. 104 หน้า.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-27

How to Cite

ศรีสุภาพ ว., เยื่อใย ค., ถิ่นทิพย์ ก., สุทธวงศ์ ธ., สุขเกษม อ., ประทุมศรี น., อยู่ดี น., & กิตติสุนทโรภาศ ส. (2024). การสอบสวนโรคไวรัสตับอักเสบเอในพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จังหวัดสมุทรปราการ เดือนตุลาคม 2561. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์, 50(1), 1–8. สืบค้น จาก https://he05.tci-thaijo.org/index.php/WESR/article/view/1437