การสอบสวนโรคเท้าช้างในผู้ป่วยชาวไทย อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เดือนธันวาคม 2556 - กรกฎาคม 2557
คำสำคัญ:
โรคเท้าช้าง, Brugia pahansi, ติดเชื้อในประเทศ, สุนัข, ระยองบทคัดย่อ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้รับรายงานผู้ป่วยโรคเท้าช้างในคนไทยรายแรกจากโรงพยาบาลระยอง โดยผู้ป่วยเป็นคนไทยอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วดำเนินการสอบสวนโรคระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2556 - 28 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการระบาดของโรคเท้าช้าง ทราบขอบเขตการระบาดและแหล่งรังโรคของพยาธิโรคเท้าช้าง รวมทั้งกำหนดมาตรการและดำเนินการควบคุมป้องกันโรคเท้าช้างในพื้นที่ วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาโดยทบทวนสถานการณ์โรคเท้าช้างในประเทศไทยและในจังหวัดระยอง ศึกษาประวัติการรักษาผู้ป่วยจากเวชระเบียนของโรงพยาบาลระยองและโรงพยาบาลวังจันทร์ สัมภาษณ์ผู้ปกครองและผู้เลี้ยงเด็กในครอบครัว ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และเจาะเลือดในประชากรกลุ่มเสี่ยง และเจาะเลือดสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคของพยาธิเท้าช้างในชุมชน สำรวจสิ่งแวดล้อมและแหล่งอาศัยของยุงพาหะนำโรคเท้าช้างรวมทั้งจับยุงพาหะในพื้นที่ ผลการสอบสวน พบผู้ป่วยเด็กชายไทย อายุ 1 ปี 6 เดือน อาศัยอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ microfilaria ในกระแสเลือด โดยผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตทั้งสองข้าง ไม่พบต่อมน้ำเหลืองโตที่แขน ผลการตรวจจำแนกชนิดเชื้อด้วยวิธีการตรวจทางพันธุกรรม (PCR) พบเป็นพยาธิเท้าช้างชนิด Brugia pahangi ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา Diethylcarbamazine (DEC) จากโรงพยาบาลศูนย์ระยอง ผลการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยเจาะเลือดประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งชาวไทยและต่างด้าว จำนวน 565 ราย ผลไม่พบเชื้อ microflaria แต่พบหนอนพยาธิในสุนัข 51 ตัว และในแมว 1 ตัว เป็นชนิด Brugia pahangi, Dirofilaria immitis และ Dirofilaria repens การสำรวจพาหะนำโรค พบยุงเสือที่เป็นยุงนำโรคเท้าช้างชนิด Brugia spp. 1 ชนิด ได้แก่ Mansonia uniformis 9 ตัว ไม่พบลูกน้ำยุงเสือในพื้นที่วัดอัตราการกัดของยุง คิดเป็นอัตราการเข้ากัด 0.37 ตัว/คน/คืน ซึ่งมีความหนาแน่นน้อย แต่พบความชุกของยุงแม่ไก่ Armigeres sp. เป็นจำนวนมาก การผ่ายุงผลไม่พบหนอนพยาธิในตัวยุง การสำรวจสภาพแวดล้อมรอบบ้านของผู้ป่วยอยู่ลึกเข้าไปจากถนนประมาณ 100 เมตร เป็นบ้านพักคนงานกลางสวนยางพาราพักอาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน 4 หลัง ประชากรรวม 12 คน ทั้งหมดเป็นคนไทยมีภูมิลำเนาจังหวัดระยอง มารับจ้างตัดยางพาราห่างจากบ้านผู้ป่วยไป และมีบึงน้ำห่างบ้านผู้ป่วยประมาณ 200 เมตร เป็นแหล่งน้ำปิดมีวัชพืชที่เป็นที่อาศัยของยุงเสือซึ่งเป็นพาหะหลักของโรคเท้าช้าง สรุปและวิจารณ์ พบผู้ป่วยโรคเท้าช้างเป็นเด็กชายไทย อายุ 1 ปี 6 เดือน โดยผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อในประเทศไทย โดยสันนิษฐานว่าน่าจะติดจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวในพื้นที่ เนื่องจากพบเชื้อเท้าช้างในสัตว์ดังกล่าวที่อยู่ในพื้นที่ด้วยการติดเชื้อครั้งนี้เกิดจากเชื้อ Brugia pahansi ซึ่งเป็นพยาธิโรคเท้าช้างที่พบโดยปกติในสัตว์และคน ไม่ใช่รังโรคโดยปกติ สามารถติดต่อสู่คนได้โดยอุบัติเหตุ อาจเนื่องด้วยผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอความต้านทานต่ำ นอกจากนี้ยังพบยุงแม่ไก่ซึ่งเป็นแมลงนำโรคหลักของ Brugia pahangi และ Dirofilaria immitis
References
สุภัทร สุจริต และคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติเรื่องโรคเท้าช้าง กระทรวงสาธารณสุข, บรรณธิการ. โรคเท้าช้างฟิลาริเอซิสในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์; 2531.
สุรางค์ นุชประยูร. โรคเท้าช้าง:ความรู้พื้นฐานสู่การประยุกต์ Lymphatic Filariasis : basics to Applications. กรุงเทพฯ : หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคเท้าช้าง ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2549.
สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค. คู่มือการดำเนินการ ควบคุมป้องกันโรคเท้าช้าง พ.ศ. 2549. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด; 2549.
ธีระยศ กอบอาษา, สุมาศ ลอยเมฆ, ศิริพร ทองอารีย์. รายงาน การสำรวจรังโรคเท้าช้างชนิด Brugia malayi ในสัตว์ที่จังหวัดนราธิวาส. [เข้าถึงวันที่ 10 มกราคม 2558]. เข้าถึงได้ จาก: http://dpc12.ddc.moph.go.th/piku/layi_20.pdf
Vythilingam I, Mooto P, Jeffery J, Parameswaran MS. Potential mosquito (Diptera: Culicidae) vectors of Dirofilaria immitis (Filariidae: Onchocercidae) in two urban areas of Kuala Lumpur and its prevalence in stray dogs. 2005 [cited 2014 December 30]. Available from: http://www.icup.org.uk/reports/icup061.pdf
Muslim A, Fong M, Mahmud R, Lau Y, Sivanandam S. Armigeres subalbatus incriminated as a vector of zoonotic Brugia pahangi filariasis in suburban Kuala Lumpur, Peninsular Malaysia. Parasites & Vectors 2013; 6: 219. 30 July 2013 [cited 2014 December 30]. Available from: http://www.parasitesandvectors.com/content/6/1/219
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2015 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ