รูปแบบการสร้างความร่วมมือด้านการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว" ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2558

ผู้แต่ง

  • ศรินทร สนธิศิริกฤตย์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 13 กรุงเทพฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • จินตนา ลิ่วลักษณ์ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 45 ร่มเกล้า ลาดกระบัง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
  • นิติพันธ์ ทันตวิวัฒนานนท์ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
  • ธวัช บุญนวม กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
  • ปัญญา แดงสีพลอย ปศุสัตว์จังหวัดกรุงเทพมหานคร

คำสำคัญ:

สุขภาพหนึ่งเดียว, การสร้างความร่วมมือ, พิษสุนัขบ้า

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: โรคพิษสุนัขข้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขโรคหนึ่งของประเทศไทยเนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อ จนถึงขั้นแสดงอาการแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคนในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534-2558 มี ผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ 71 ราย โดยได้รับเชื้อจากสุนัข 69 ราย ร้อยละ 97.18 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขจรจัด ร้อยละ 53.97 สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2558 พบตัวอย่างสัตว์ให้ ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้า 254 ตัว พื้นที่กรุงเทพมหานครหลายเขต ยังพบการระบาดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์อยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตลาดกระบังซึ่งพบสูงสุดในปี พ.ศ. 2557 จำนวน 12 ตัว จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรค พิษสุนัขบ้าในพื้นที่แบบบูรณาการโดยเน้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
วิธีการศึกษา: เริ่มดำเนินการเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2558 รูปแบบการดำเนินงานประกอบด้วย 1) การเสริมสร้างพลังอำนาจสู่การจัดการปัญหาในครัวเรือนและในชุมชนส่งผลให้มีการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังโรคในสัตว์และคน 2) การทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและปศุสัตว์ 3) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการบังคับใช้กฎหมาย 4) การรายงานอย่างเป็นระบบทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน
ผลการศึกษา: จากการดำเนินงานทำให้มีระบบการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-9 กรกฎาคม 2558 มีรายงานโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รวม 18 ตัว เป็นสุนัข 17 ตัว แมว 1 ตัว เป็นสุนัขในเขตลาดกระบัง 1 ตัว และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ระบบป้องกันโรคพบว่าได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าในคนกลุ่มเสี่ยง (Pre-exposure) 377 ราย พัฒนาระบบการติดตามการฉีดวัคซีนป้องกันหลังสัมผัสโรคเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 56 เป็นร้อยละ 91 ส่วนมาตรการป้องกันโรคในสัตว์มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในพื้นที่โดยแกนนำชุมชน 14,134 ตัว จำแนกเป็นสุนัข 8,794 ตัว แมว 5,213 ตัว อื่น ๆ 127 ตัว อีกทั้งยังดำเนินการฉีดวัคซีนได้ 12,096 ตัว ส่งผลให้ความครอบคลุมวัคซีนของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 85.58 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยงในชุมชน เพิ่มขึ้นจาก 2 แห่ง เป็น 9 แห่ง และลดจำนวนสัตว์ ที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าโดยการจัดหน่วยเคลื่อนที่ทำหมันถาวรสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ 6) มีระบบควบคุมโรคในสัตว์ที่สัมผัสโรค และสัตว์ที่มีอาการสงสัยโรคพิษสุนัขบ้ามากักขังดูอาการ
สรุปและวิจารณ์: การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ประชาชนในพื้นที่มีการตื่นตัวทำให้การดำเนินการในการเฝ้า ระวังในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่พบหัวสุนัขให้ผลบวกต่อโรคพิษสุนัขบ้า และไม่พบผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ในพื้นที่

References

Centers for Disease Control and Prevention. Compendium of animal rabies prevention and control. National Association of State Public Health Veterinarians, Inc. (NASPHV). MMWR [Internet]. April 18, 2008 [cited 2015 July 8];57(RR02):1-9. Available from http://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtm/rr5702a1.htm

สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. หนังสือประกอบการฝึกอบรมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (Zoonosis). กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์; 2546. หน้า 51-62.

World Health Organization. Human infection with avian influenza A (H7N9) virus update. Situation update-Avian Influenza; 2015. [cited 8 July 2015]. Available from http://www.who.int/influenza/human _animal_interface/avian_influenza/archive/en/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-05-27

How to Cite

สนธิศิริกฤตย์ ศ., ลิ่วลักษณ์ จ., ทันตวิวัฒนานนท์ น., บุญนวม ธ., & แดงสีพลอย ป. (2024). รูปแบบการสร้างความร่วมมือด้านการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว" ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2558. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์, 47(39), 609–616. สืบค้น จาก https://he05.tci-thaijo.org/index.php/WESR/article/view/2056

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ