การสอบสวนผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) และการระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่ในธนาคารแห่งหนึ่ง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559

ผู้แต่ง

  • ศรีแพร เอ้งฉัวน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต
  • ผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต
  • อาริยา แพนชัยภูมิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
  • ปัทมา รัญจวนจิต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

คำสำคัญ:

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์เอช 1เอ็น1 (2009), เสียชีวิต, การระบาด, ภูเก็ต, ปัจจัยเสี่ยง

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: วันที่ 14 มิถุนายน 2559 สำนักงานสาธารณสุข อำเภอเมืองภูเก็ต ได้รับแจ้งว่ามีพนักงานธนาคารแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองภูเก็ต เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 1 ราย และเพื่อนร่วมงานของผู้เสียชีวิต มีอาการป่วยคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่หลายรายทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนเร็ว (SRRT) อำเภอเมืองภูเก็ตจึงสอบสวนควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 14-26 มิถุนายน 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุ และปัจจัยที่มีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย ปัจจัยของการระบาด และระบุขอบเขตการระบาดของโรค ค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ และแหล่งแพร่เชื้อ และควบคุมการระบาด
วิธีการศึกษา: ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา และระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ โดยใช้รูปแบบ Retrospective Cohort Study ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในธนาคาร ซึ่งเป็นที่ทำงานของผู้ป่วยเสียชีวิต นิยามผู้ป่วย คือ ผู้ที่ทำงานในธนาคารแห่งนี้ที่มีอาการไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ร่วมกับอาการทางเดินระบบหายใจอย่างน้อย 1 อาการ ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม-26 มิถุนายน 2559 และศึกษาทางห้องปฏิบัติการโดยตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วยวิธี Qualitative Real-Time PCR และตรวจหาภูมิคุ้มกันชนิด IgM ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A โดยวิธี Enzyme-linked immunosorbent assay
ผลการศึกษา: พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A (HIN1) จำนวน 1 ราย เพศหญิง อายุ 48 ปี ไม่มีโรคประจำตัวในระยะแรก ผู้ป่วยซื้อยากินเอง และรับการรักษาจากคลินิกโดยไม่ได้รับยา Oseltamivir ต่อมาอาการเลวร้ายลง จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะ pneumonia, septic shock และ Acute renal failure และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการศึกษาพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ในที่ทำงานเดียวกับผู้ป่วยเสียชีวิต 8 ราย (อัตรา ป่วยร้อยละ 22.50) โดยทั้งหมดทำงานที่ชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นทำงานเดียวกับผู้ป่วยเสียชีวิต (อัตราป่วยร้อยละ 64.29) ผลการศึกษาทางห้องปฏิบัติการไม่พบภูมิคุ้มกันชนิด IgM ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A ในผู้ป่วยสงสัย 5 ราย และไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยสงสัย 2 ราย การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นใน ช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในพื้นที่ อำเภอเมืองภูเก็ต ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ การเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์ของพนักงานทั้ง 2 ครั้ง
สรุปและวิจารณ์ผล: การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลล่าช้า มีผล ต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย และช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล กิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก มีโอกาสที่จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อในชุมชน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตในผู้ป่วย และการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ควรมีมาตรการการเฝ้าระวังโรค และเตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง การให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยในคลินิกเอกชน และร้านขายยา

References

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการป้องกันควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การ สงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2554.

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อหรืออาจจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (ออนไลน์). [เข้าถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2559]. เข้าถึงได้จาก: http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/th/diseases/253

กรรณิการ์ หมอนพังเทียม และพจมาน ศิริอารยาภรณ์. รายงานเบื้องต้นลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เสียชีวิตประเทศไทย เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2557. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2558; 46: 625-30.

ภันทิลา ทวีวิกยการ, จิรภัทร กัลยาณพจน์พร, ชูพงศ์ แสงสว่าง, สุรเชษฐ์ อรุโณทอง, ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ, พรเอื้อ บุญยไพศาล เจริญและคณะ. การสอบสวนกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่ชนิด A (HIN1) 2009 ใน อำเภอเชียงดาว จังหวัด เชียงใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ 2557. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2558; 46: 433-9.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-05-31

How to Cite

เอ้งฉัวน ศ., อุทกเสนีย์ ผ., แพนชัยภูมิ อ., & รัญจวนจิต ป. (2024). การสอบสวนผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด A (H1N1) และการระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่ในธนาคารแห่งหนึ่ง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์, 48(6), 81–88. สืบค้น จาก https://he05.tci-thaijo.org/index.php/WESR/article/view/2195

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ