การระบาดของโรคหัดในที่พักแรงงานต่างด้าว ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2555
คำสำคัญ:
โรคหัด, วัคซีน MMR, genotype D9บทคัดย่อ
วันที่ 20 มิถุนายน 2555 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคุระบุ ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงาว่า พบผู้ป่วยสงสัยโรคหัด เข้ารับการรักษาแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 2 ราย โดยเป็นเด็กชาวพม่าอาศัยในที่พักแรงงานต่างด้าว หมู่ 3 และหมู่ 5 ตำบลบางวัน ทีม SRRT อำเภอคุระบุรี ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคในระหว่างวันที่ 20-27 มิถุนายน 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อยืนยันการระบาดของโรค อธิบายลักษณะการเกิดและการกระจายของโรค หาสาเหตุ แหล่งโรคและวิธีการถ่ายทอดโรค และดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโรค
ผู้ป่วยทั้งสองรายมีอาการไข้ ไอ มีผื่นแดงตามตัว ผู้ป่วยรายแรกเป็นเพศหญิง อายุ 2 ปี 5 เดือน เริ่มมีไข้ 10 มิถุนายน 2555 มี ปอดอักเสบร่วมด้วยผู้ป่วยรายที่สองเป็นเพศชาย อายุ 9 เดือน เริ่มมีไข้ 11 มิถุนายน 2555 มีอาการถ่ายเหลวร่วมด้วย เมื่อทำการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเดิม พบผู้ป่วยทั้งหมด 36 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันโรคหัด ร้อยละ 41.7 และผู้ป่วยสงสัยโรคหัด 21 ราย ร้อยละ 58.3 และการตรวจ Throat swab เพื่อตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ (Genotype) ของเชื้อไวรัสก่อโรค พบ genotype D9 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอยู่ในกลุ่มอายุ >1-5 ปี อาการป่วยที่พบมากที่สุด ได้แก่ ไข้และผื่น ร้อยละ 100 รองลงมาได้แก่ ไอ ร้อยละ 94.5 น้ำมูกร้อยละ 71.6 และตาแดง ร้อยละ 27 ถ่ายเหลว ร้อยละ 8.1 และโรคปอดอักเสบ ร้อยละ 2.7 ตามลำดับ พบผู้ป่วยรายแรกตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2555 เพศหญิง อายุ 18 ปี อยู่ที่พักแรงงานต่งด้าวหมู่ 5 ตำบลบางวัน มีประวัติเดินทางมาที่พักแรงงานต่างด้าวหมู่ 3 ตำบลบางวัน หลังจากนั้นพบการ ระบาดเป็นกลุ่มก้อนทั้งสองหมู่บ้าน การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นนานประมาณเดือน เป็นการระบาดชนิดแหล่งโรคแพร่กระจาย (Propagated source outbreak) จากการสอบสวนโรคในโรงเรียนประถมศึกษา A พบเด็กนักเรียนพม่าที่มาจากที่พักแรงงานทั้งสอง แห่ง ป่วยด้วยโรคหัดทั้งสิ้น 16 ราย กลุ่มนักเรียนชั้นอนุบาลพบการเกิดโรคมากที่สุด รองลงมาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามลำดับ ไม่มีหลักฐานการได้รับวัคซีนในเด็กชาวพม่า ส่วนเด็กไทยพบความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนหัดอายุครบ 1 ปี รายตำบล และเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ร้อยละ 100 ทีม SRRT อำเภอคุระบุรี ได้ให้วัคซีน MMR แก่เด็กนักเรียนพม่าที่ไม่มีอาการป่วยในโรงเรียนประถมศึกษา A และโรงเรียนประถมศึกษาอื่น ๆ ในตำบลบางวันรวม 136 ราย เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของโรคหัดที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า
สาเหตุของการระบาดครั้งนี้ น่าจะเกิดจากการไม่ได้รับวัคซีน MMR ในเด็กชาวพม่า ความเป็นอยู่ที่แออัดไม่ถูกหลักสุขาภิบาล การไม่มารับการรักษาที่สถานพยาบาล ประกอบกับไม่มีการแจ้งข่าวการระบาดของโรคจากทางโรงเรียนให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อที่จะลงดำเนินการควบคุมโรคอย่างทันท่วงทีทำให้พบผู้ป่วยกระจายมากขึ้น จากการเฝ้าระวังโรคต่อเนื่องเป็นเวลา 24 วันไม่พบ ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีกทั้งในที่พักแรงงานต่างด้าวและในโรงเรียนประถมศึกษา A
References
สมเจตน์ ตั้งเจริญศิลป์.โรคหัด. รายงานเฝ้าระวังทางระบาด วิทยาประจำสัปดาห์ 2548;36:5-8.
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค, สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์กรมการแพทย์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์. แนวทางการเฝ้าระวังควบคุมโรคการตรวจรักษา และส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการกำจัดโรคหัด ตามโครงการกำจัดโรคหัดตามพันธะสัญญานานาชาติ. โรงพิมพ์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2554. หน้า 1-46.
สมเจตน์ ตั้งเจริญศิลป์, ดารินทร์ อารีย์โชคชัย. รายงานการเฝ้าระวังโรคหัดตามโครงการกำจัดโรคหัด ประเทศไทย เดือน มกราค - กันยายน 2555. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาด วิทยาประจำสัปดาห์ 2555;43:721-4.
เอกชัย ยอดขาว และคณะ. การสอบสวนและควบคุมการระบาดของโรคหัดในเรือนจำแห่งหนึ่ง จังหวัดสมุทรปราการ เดือน มกราคม-มีนาคม 2554. ร้ายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประจำสัปดาห์ 2555;43:97-104.
คณะทำงานจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติโรคติดเชื้อ เครือข่ายแนวทางเวชปฏิบัติ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติโรคติดต่อทั่วไป. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: องค์การทหารผ่านศึก; 2546. หน้า 128-30.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2014 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ