Publication Ethics

วารสารโรงพยาบาลสกลนครมีกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์บทความวิชาการ ดังต่อไปนี้

1. บทความวิชาการจากผู้นิพนธ์ภายนอกโรงพยาบาลสกลนครที่ตีพิมพ์มีการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะสาขาจากภายในหรือภายนอกหน่วยงานอย่างน้อย 2 ท่านต่อบทความ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์ไม่ทราบชื่อของแต่ละฝ่าย (Double–blind peer review)
2. บทความวิชาการจากผู้นิพนธ์ภายในโรงพยาบาลสกลนครที่ตีพิมพ์มีการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะสาขาจากภายนอกหน่วยงานอย่างน้อย 2 ท่านต่อบทความ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์ไม่ทราบชื่อของแต่ละฝ่าย (Double–blind peer review)
3. ผลการประเมินคุณภาพบทความเป็นไปได้ 5 ลักษณะ คือ รับตีพิมพ์บทความโดยไม่ต้องแก้ไข (Accept submission) ให้เจ้าของบทความแก้ไขตามข้อเสนอแนะโดยให้บรรณาธิการพิจารณาต่อ (Revisions required) ให้เจ้าของบทความแก้ไขโดยผู้ประเมินบทความขอให้ส่งกลับมาดูอีกครั้ง (Resubmit for review) ให้เจ้าของบทความส่งบทความไปยังวารสารอื่น Resubmit elsewhere) และ ไม่รับตีพิมพ์ (Decline submission)
4. เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานด้านจริยธรรมการตีพิมพ์ วารสารโรงพยาบาลสกลนครจึงกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Author) บรรณาธิการวารสาร (Editor) และผู้ประเมินบทความ (Reviewer) โดยปรับปรุงจาก Committee on Publication Ethics (COPE) ที่สืบค้นได้จาก https://publicationethics.org/files/2008%20Code%20of%20Conduct.pdf ดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์
1) ผู้นิพนธ์ต้องมีหนังสือรับรองว่าบทความที่ส่งมานั้น เป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และจะไม่นำส่งไปเพื่อพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารอื่น ๆ อีก นับจากวันที่ได้ส่งบทความฉบับนี้มายังวารสารโรงพยาบาลสกลนคร
2) ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น หากมีการนำข้อความของผู้อื่นมาใช้อ้างอิงหรือประกอบการเขียนบทความ ต้องเขียนอ้างอิงตามหลักเกณฑ์การอ้างอิงที่วารสารโรงพยาบาลสกลนครกำหนด
3) ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความจากข้อเท็จจริงของการทำวิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
4) ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้ตรงตามรูปแบบที่วารสารโรงพยาบาลสกลนครกำหนด
5) ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในผลงานที่ใช้เขียนบทความจริง
6) ผู้นิพนธ์ต้องเขียนกิตติกรรมประกาศ และระบุแหล่งทุนสนับสนุนผลงานที่ใช้เขียนบทความในครั้งนี้ (ถ้ามี) รวมถึงระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
7) สำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลในมนุษย์ ผู้นิพนธ์ต้องแนบสำเนาหนังสือรับรองให้ดำเนินการศึกษาวิจัยจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบันที่ทำการวิจัย

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร
1) บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของทุกบทความที่ส่งเข้ามาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสาร โดยพิจารณาจากความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตเนื้อหาของวารสาร ความสำคัญ ความใหม่และความชัดเจน ก่อนส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิ
2) บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นอย่างจริงจังด้วยโปรแกรมที่มีความน่าเชื่อถือ หากตรวจพบการคัดลอกผลงานผู้อื่นโดยมีหลักฐานชัดเจน บรรณาธิการต้องติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจงประกอบการปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ
3) บรรณาธิการมีหน้าที่แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาคุณภาพบทความ โดยมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของบทความนั้นๆ และไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์บทความ
4) บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินคุณภาพบทความ
5) บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ และผู้เชี่ยวชาญประเมินบทความ ไม่นำบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ หรือนำไปเป็นผลงานของตนเอง
6) บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการและปราศจากอคติในการคัดเลือกบทความตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพบทความแล้ว
7) บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่วารสารอื่นมาแล้ว

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
1) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ประเมินให้กับบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
2) หากผู้ทรงคุณวุฒิพบว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
3) ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญด้วยหลักการและเหตุผลทางวิชาการ ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินการตีพิมพ์บทความ
4) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากบทความที่ตนเองได้ประเมิน
5) หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมินนั้นมีการคัดลอกผลงานจากบทความอื่นที่มีการเผยแพร่แล้วโดยมีหลักฐานชัดเจน ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบทันที