การศึกษาสถานการณ์โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561
คำสำคัญ:
โรคเนื้อเน่า, สถานการณ์, ประเทศไทยบทคัดย่อ
ความเป็นมา: โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นการติดเชื้อ แบคทีเรียของผิวหนังที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาด้วยการตัดอวัยวะและเสียชีวิตได้จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ของโรคเนื้อเน่ายังไม่เคยถูกนํามาวิเคราะห์ในภาพรวมประเทศไทย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบขนาดของปัญหาและการกระจายของโรคเนื้อเน่าในประเทศไทยตามบุคคล เวลา และสถานที่ และเพื่อให้ข้อเสนอแนะสำหรับการป้องกันและควบคุมโรค
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาภาคตัดขวาง โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากฐานข้อมูลรายงานมาตรฐาน Health data center (HDC) ประชากร ที่ทำการศึกษา คือ ผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้รับการวินิจฉัยด้วยโรค Necrotizing fasciitis (ICD–10: M72.6) ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม–31 ธันวาคม 2561 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบร้อยละ ค่ามัธยฐาน (และค่าพิสัย ระหว่างควอร์ไทล์) และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูรูปแบบเชิงพื้นที่ (spatial pattern) โดยค่าสถิติ Moran’s I และ local Moran’s I test map
ผลการศึกษา: ปี พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยโรค Necrotizing fasciitis จำนวนทั้งสิ้น 19,071 ราย (อัตราป่วย 31.1 ต่อประชากรแสนคน) อัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเท่ากับ 1.5:1 ค่ามัธยฐานอายุเท่ากับ 59.7 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพงานพื้นฐาน (ร้อยละ 32.7) และอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 32.1) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการติดเชื้อบริเวณเท้าและข้อเท้า (ร้อยละ 43.0) รองลงมา คือ ขาบริเวณใต้เข่าจนถึงข้อเท้า (ร้อยละ 28.2) มีผู้ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะ ร้อยละ 8.2 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด และมีผู้ป่วย เสียชีวิต จำนวน 1,209 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 6.3 ผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวจำนวน 11,813 ราย โดยโรคที่พบบ่อยที่สุด คือ ความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 72.2) และโรคเบาหวาน (ร้อยละ 68.3) พบจำนวนผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นของฤดูกาลเพาะปลูกในประเทศไทย จากการวิเคราะห์การกระจายของผู้ป่วยตามสถานที่ พบว่า Moran’s I statistic เท่ากับ 0.54 (p–value <0.01) บ่งบอกว่ามีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน (cluster pattern) และจากการวิเคราะห์ด้วย local Moran’s I test map พบว่าพื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งประชากรที่อาศัยบริเวณดังกล่าว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
สรุปและวิจารณ์ผล: สถานการณ์การโรค Necrotizing fasciitis ในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดยพบการเกิดโรคสูงในช่วงต้นของฤดูกาลเพาะปลูก พื้นที่เสี่ยงอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจําตัวเป็นโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ควรให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อที่ผิวหนังในกลุ่มเสี่ยง ด้วยยาปฏิชีวนะแต่เนิ่น ๆ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อลดโอกาสการเกิดโรค ความพิการ และการเสียชีวิตในผู้ป่วย
References
Headley AJ. Necrotizing soft tissue infections: a primary care review. American family physician. 2003; 68(2):323–8.
Malheiro LF, Magano R, Ferreira A, Sarmento A, Santos L. Skin and soft tissue infections in the intensive care unit: a retrospective study in a tertiary care center. Rev Bras Ter Intensiva. 2017;29(2):195–205.
Eneli I, Davies HD. Epidemiology and Outcome of Necrotizing Fasciitis in Children: An Active Surveillance Study of the Canadian Paediatric Surveillance Program. The Journal of Pediatrics. 2007;151(1):79–84.e1.
Naseer U, Blystad H, Angeloff L, Nygård K, Vold L, Macdonald E. Cluster of septicaemia and necrotizing fasciitis following exposure to high seawater temperatures in southeast Norway, June to August 2018. International Journal of Infectious Diseases. 2019;79:28.
Mulla ZD, Gibbs SG, Aronoff DM. Correlates of length of stay, cost of care, and mortality among patients hospitalized for necrotizing fasciitis. Epidemiol Infect. 2007;135(5):868–76.
ฤดูปลูก. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 5 มิ.ย. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=5&chap=3&page=t5–3–infodetail10.html
Ministry of Tourism & Sports. Occupations [Internet]. 2019 [cited 2019 Jul 5]. Available from: https://thailandtourismdirectory.go.th/en/content/page/detail/itemid/94
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2019 รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
1. เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงพิมพ์กับ WESR ถือเป็นข้อคิดเห็น และความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสารไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
2. บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน WESR ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง ส่วนใดไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงบทความนั้น ๆ