การประเมินระบบเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก โรงพยาบาลท่าแพ จังหวัดสตูล ปี พ.ศ. 2558

ผู้แต่ง

  • พันธุ์เชษฐ์ บุญช่วย โรงพยาบาลท่าแพ จังหวัดสตูล
  • เจนฤทธิ์ รอเกตุ สํานักงานสาธารณสุขอําเภอท่าแพ จังหวัดสตูล

คำสำคัญ:

การประเมินระบบเฝ้าระวัง, โรคมือ เท้า ปาก, ท่าแพ, สตูล

บทคัดย่อ

ความเป็นมา: โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ต้องรายงานในระบบเฝ้าระวังเนื่องจากป็นโรคที่พบการระบาดได้ง่าย และทำให้เด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากรายงานสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก อำเภอท่าแพในปี พ.ศ. 2558 พบอัตราป่วย 95.53 ต่อ ประชากรแสนคนไม่พบผู้เสียชีวิต แต่พบว่าในปี พ.ศ. 2558 พบผู้ป่วยสูงกว่ามัธยฐาน 5 ปีทุกเดือน โรงพยาบาลท่แพจึงได้ดำเนินการประเมินระบบเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก เพื่อทราบถึงประสิทธิผลของระบบเฝ้าระวังคุณลักษณะเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อนำผลการประเมินปรับปรุงและพัฒนาระบบเฝ้าระวังให้ดียิ่งขึ้น
วิธีการศึกษา: ศึกษาคุณลักษณะของระบบเฝ้าระวังในเชิงปริมาณ ได้แก่ ความไว ค่าพยากรณ์บวก ความถูกต้อง ความเป็นตัวแทน และความทันเวลา และคุณลักษณะเชิงคุณภาพ ได้แก่ การยอมรับ ความยากง่าย ความยืดหยุ่น ความอยู่ตัวของระบบเฝ้าระวัง และการใช้ประโยชน์จากระบบเฝ้าระวัง ดำเนินการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงในโรงพยาบาลท่าแพ โดยทำกรศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2558
ผลการศึกษา: ความไวของระบบเฝ้าระวังเท่ากับร้อยละ 48.84 ค่าพยากรณ์บวกเท่ากับร้อยละ 80.77 รายงานความถูกต้องของเพศอายุ ร้อยละ 100 ที่อยู่ขณะป่วยถูกต้องร้อยละ 96.15 วันเริ่มป่วยถูกต้องร้อยละ 88.46 ความทันเวลา (0-3 วัน) ร้อยละ 50 สำหรับเชิงคุณภาพ พบว่า การยอมรับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในระบบเฝ้าระวังเป็นอย่างดี มีระบบที่ไม่ซ้ำช้อน ความยั่งยืนและการนำไปใช้ประโยชน์จากระบบเฝ้าระวังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ควรมีการปรับปรุงในเรื่องความยืดหยุ่นของระบบเฝ้าระวัง กรณีผู้รับผิดชอบหลักไม่อยู่อาจทำให้การรายงนในระบบล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง
สรุปและวิจารณ์: ภาพรวมของระบบเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก และโรคติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรของโรงพยาบาลท่าแพ ควรพัฒนาและปรับปรุงให้มีความไวเพิ่มขึ้น และหาเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานระบบเฝ้าระวังเพิ่มเติม เพื่อจะได้ตรวจจับการระบาดได้รวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนป้องกันและควบคุมโรคได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

References

ธนรักษ์ ผลิพัฒน์. แนวทางการประเมินระบบเฝ้าระวังทางสาธารณสุข. พิมพ์ครั้ง 3. นนทบุรี: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค; 2551.

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย. พิมพ์ครั่งที่ 2 กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์ องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.); 2546.

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. มาตรฐานงานระบาดวิทยาโรคติดต่อ. กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์ องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.); 2548.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-05-30

ฉบับ

บท

บทความต้นฉบับ